เวทีสภาผู้บริโภคนำเสนอผลงาน กสทช. ชุดใหม่หลังการทำงานเกือบปีครึ่ง พบว่า “สอบตก” ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช้อำนาจที่มีจัดการแก๊งคอลเซนเตอร์ ไม่ควบคุมการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการค่ายมือถือ เพิกเฉยเมื่อค่ายมือถือไม่ปฏิบัติตามสัญญาลดค่าบริการร้อยละ 12 ให้ผู้บริโภคตามกำหนด 3 เดือน และละเลยการกำกับโฆษณาลวง
วันนี้ (12 กันยายน 2566) สภาผู้บริโภคจัดเวที Consumers Forum EP.6 “ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.ในมุมมองผู้บริโภค” ขึ้น เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคในด้ารการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ติดตามนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดผลการศึกษาข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการทำงานของ กสทช. ชุดปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า จากที่ติดตามการทำงานของ กสทช. ชุดปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง พบว่าที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีผลงานการกำกับดูแลที่โดดเด่น และมีท่าทีไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาผู้บริโภค ทั้งในระดับปัจเจก เช่น ปัญหาเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภครายย่อยต้องเผชิญ ไปจนถึงปัญหาระดับประเทศอย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร
“สิ่งที่คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการตรวจสอบและเรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค จึงคาดหวังให้ กสทช. กลับมาปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน และเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน สร้างความโปร่งใส สร้างธรรมาภิบาล และเดินหน้าแก้ปัญหาผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถเป็นความหวังของผู้บริโภคในการคานดุลกับผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมรวมถึงด้านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ และร่วมมือกับสภาผู้บริโภครวมถึงองค์กรอื่น ๆ ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภคให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”
ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลด้านสื่อและโทรคมนาคมที่พบปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น
ผลงานส่วนที่สองคือ การติดตามประเด็นสิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่คุกคามชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การถูกละเมิดหรือการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล การหลอกลวงทางเอ็มเอส แก๊งคอลเตอร์ ซึ่งสภาผู้บริโภคมีความพยายามที่จะบูรณาการและกระตุ้นหลายภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาคือการผลักดันเชิงนโยบายการ และการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเติบโต รู้เท่าทัน และสามารถที่จะป้องกันตัวเองได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งกลไกของภาครัฐ
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร กล่าวอีกว่า สำหรับ “ผลงานชิ้นโบว์ดำ” ของกสทช. คือปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรูและดีแทค” ที่สภาผู้บริโภคได้ทำการรณรงค์ ล่ารายชื่อ จัดเวทีเสวนา ยื่นจดหมายต่อ กสทช. ไปจนถึงการยื่นฟ้องร้องต่อศาล แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกับการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคได้ อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงในภาคการเมืองจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการดูแลตรวจสอบทั้งการทำงานของ กสทช. และทุนใหญ่ด้านโทรคมนาคม
“แม้สภาผู้บริโภคจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านการควบรวมได้สำเร็จ เนื่องจากปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กสทช. จึงขอยกให้เป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของ กสทช.ชุดนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการควบรวมจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ว่าจะส่งเสริมการแข่งขันอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีหลักประกัน มีทางเลือกหลากหลายในยุคห้าจี (5G) ในยุคไอโอที (IoT : Internet of Thing) นี่เป็นสิ่งที่เราก็ยังคงคาดหวังจากพรรคเพื่อไทย รวมถึง กสทช. ว่าจะมีวิสัยทัศน์และมีความเห็นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้กับสภาผู้บริโภค” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวทิ้งท้าย
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ติดตามการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากที่ กสทช. มีมติ “รับทราบการควบรวมกิจการ” ระหว่างทรูกับดีแทค ซึ่ง กสทช. มีข้อกังวลและได้ออกเงื่อนไขมาตรการเฉพาะ 5 เรื่อง คือ 1) เรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ 2) อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด – ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย 3) คุณภาพการให้บริการ 4) การถือครองคลื่นความถี่ / การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ 5) เศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือติดตามความคืบหน้าจาก กสทช. เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของมาตรการเฉพาะดังกล่าว โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (Weighted Average) ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวมกิจการ
แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 180 วันหรือ 6 เดือนแล้ว สภาผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงความคืบหน้าใด ๆ ซึ่งสภาผู้บริโภคมีหนังสือสอบถามไปที่ กสทช. และ กสทช. มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภคว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอยู่
“กสทช. มีหน้าที่ต้องกำกับติดตามมาตรการเฉพาะที่ตนเองได้กำหนด แต่กลับใช้เวลานานเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าบริการเฉลี่ยดังกล่าว เรื่องนี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคหลังจากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการแล้ว ผู้บริโภคก็ยังไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมอย่างที่มีการกล่าวอ้าง
เพราะหากบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรการเฉพาะอยู่แล้วก็เพียงแต่ชี้แจงต่อ กสทช. ให้ชัดเจนเพียงพอ ก็น่าจะพิจารณาได้ว่าผู้ให้บริการได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ นอกจากเรื่องการลดค่าบริการที่ยังไม่เห็นความคืบหน้าแล้ว สภาผู้บริโภคกำลังติดตามประเด็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพบริการหลังจากการควบรวมกิจการ ซึ่งผู้บริโภคควรจะได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมด้วย” อิฐบูรณ์ระบุ
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวถึงข้อมูลจากงานวิจัยติดตามนโยบายกำกับดูแลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยระบุว่า ภาพรวมผลการศึกษาเรื่อง กสทช. มี 3 ประเด็นหลักที่หยิบยกมานำเสนอ ได้แก่
หนึ่ง เรื่องบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ที่ปัจจุบันทำงานเรื่องความมั่นคงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการแก้กฎหมาย การเพิ่มระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถใช้เงินเพื่อภารกิจความมั่นคง เช่นการจัดสรรงบประมาณกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และงบประมาณ USO อาทิ ให้งบกระทรวงกลาโหมจัดหารถควบคุมม็อบ หรือให้ตำรวจนำงบไปวางระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
ในทางกลับกันงบประมาณสำหรับภารกิจหลักในเรื่องการพัฒนาบริการและการเข้าถึงการสื่อสารกลับลดน้อยลง นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กสทช. มีบทบาทค่อนข้างน้อยในการกำกับดูแลสื่อเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ ถูกต้อง ไม่เจอโฆษณาหลอกลวง แต่มักใช้เครื่องมือในการปิดช่องสำนักข่าวต่าง ๆ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคง
สอง เรื่องการตีความขอบเขตอำนาจของหน่วยงาน ฉัตรอธิบายว่า ทั้งที่มีการตีความขอบเขตอำนาขของตัวเองให้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านความมั่นคง แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำกับดูแลกลุ่มทุนใหญ่ เช่น กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค กสทช. กลับจำกัดอำนาจตัวเองลง ด้วยการมีมติว่าไม่มีอำนาจในการให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวม และกลายเป็นการลงมติรับทราบ รวมถึงการที่ กสทช. ไม่ค่อยกล้าเรียกข้อมูลผู้ประกอบการ และไม่ใช้มาตรการหนักทั้งที่การควบรวมลดการแข่งขันลงมาก
“สุดท้ายด้วยข้อมูลครึ่ง ๆ กลาง ๆ ประกอบกับการคิดว่าองค์กรของตัวเองมีอำนาจไม่เต็มที่ ทำให้เงื่อนไขและมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการค่อนข้างเบาจนเกินไป แม้จะเกิดการควบรวมที่ใหญ่ขนาดนี้ กสทช. ก็ยังไม่ใช้มาตรการเชิงโครงสร้างเลย มีเพียงมาตรการห้ามทำพฤติกรรมตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งสุดท้ายแล้ว กสทช. ก็อาจไล่กำกับดูแลสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทัน ไม่ทั่วถึง” ผู้อำนวยการ 101 PUB ระบุ
สำหรับประเด็นที่สาม ซึ่งเป็นเรื่องการติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ หลังจากการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ฉัตรกล่าวว่า หากไล่ดูเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะรายข้อจะพบว่ารายละเอียดเกือบทั้งหมดที่ กสทช. กำหนดยังไม่ถูกดำเนินการจนแล้วเสร็จ แม้ว่าจะเกินจากระยะเวลาที่กำหนดไปมากกว่า 3 เดือนแล้วก็ตาม นอกจากนี้ กสทช. ยังมีแนวโน้มที่จะทำงานตามลายลักษณ์อักษร และ “เชื่อใจข้อมูลที่ได้จากเอกชนมากเกินไป”
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการติดตามการควบรวม ทรู – ดีแทค ในประเด็นเงื่อนไขเรื่องการลดราคาค่าบริการลงร้อยละ 12 พบว่าจำนวนแพ็กเกจที่ทรูส่งให้ กสทช. ก่อนและหลังมาตรการกำกับดูแลมีจำนวนไม่เท่ากัน และไม่สามารถนำไปซ้อนทับกันได้ อีกทั้งข้อมูลตัวเลขที่บริษัทฯ แจ้งต่อ กสทช. ระบุว่าหลังการควบรวมมีการลดราคาค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจที่บ่งชี้ว่าค่าบริการไม่ได้ลดลง และบางกรณีอาจเพิ่มขึ้นจากก่อนมีการควบรวมกิจการอีกด้วย
สำหรับผู้บริโภคที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาวิจัยการติดตามนโยบายกำกับดูแลประโยชน์ของผู้บริโภค (ด้านการสื่อสาร และโทรคมนาคม) จัดทำโดย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB – 101 Public Policy Think Tank) ได้ที่นี่ > ผลการศึกษาวิจัยการติดตามนโยบายกำกับดูแลประโยชน์ของผู้บริโภค (ด้านการสื่อสาร และโทรคมนาคม)