สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วย กรณีขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชี้ ‘คุณภาพไม่เพิ่มขึ้นตามราคา’ ย้ำการปรับขึ้นค่าโดยสารบริการสาธารณะ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
จากกรณีเมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท ตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี นั้น
วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อต้นปี 2566 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพิ่งปรับอัตราค่าโดยสารขึ้น 1 บาท จากค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 สูงสุด 42 บาท ปรับเป็นค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท สวนทางกับคุณภาพของบริการที่ไม่เพิ่มขึ้นตามราคา
“แม้จะเป็นการขึ้นราคาตามสัญญาสัมปทาน แต่หลังจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารเมื่อปี 2566 ก็ไม่เห็นการปรับปรุงระบบและคุณภาพบริการ เช่น เรื่องที่ประชาชนเรียกร้องให้จำนวนโบกี้โดยสารในแต่ละขบวนเพื่อลดความแออัด ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่กลับแก้ปัญหาด้วยการถอดเก้าอี้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถยืนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น ระบบรถไฟฟ้าขัดข้อง หรือเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องน้ำแอร์รั่ว สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพมาตรฐานไม่เพิ่มขึ้นตามราคา เหมือนตอกย้ำซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้บริโภค” คงศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ หากดูผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) จะพบว่า บีอีเอ็ม มีกำไรสุทธิ 847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 98 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจระบบราง 1,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 118 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันสายสีน้ำเงินมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 400,000 คน/เที่ยว/วัน นั่นแปลว่าการปรับราคาขึ้น 2 บาท จะทำให้บีอีเอ็มมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 290 ล้านบาทต่อปี คำถามสำคัญคือบริษัทฯ นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นไปพัฒนาคุณภาพบริการ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการหรือไม่ อย่างไร
คงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่รัฐจะขึ้นราคารถโดยสารสาธารณะควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ และควรฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงสภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนผู้บริโภค โดยรัฐต้องต่อรองประโยชน์ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ด้วยเช่นกัน