สภาผู้บริโภคย้ำ ถูกเก็บเงินจากบริการเอสเอ็มเอสโดยที่ไม่ได้สมัคร ผู้บริโภคต้องได้เงินคืน จี้ค่ายมือถือปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ พร้อมเรียกร้อง กสทช. กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2567) สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค กรณีถูกหักเงินจากเอสเอ็มเอส (SMS) แบบเสียเงิน ทั้งที่ไม่ได้สมัคร อีกทั้งเมื่อโทรศัพท์ไปหาคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้คืนเงิน ยังต้องเสียเงินครั้งละ 3 บาท และต้องรอสายเป็นระยะเวลานาน แม้สุดท้ายผู้บริโภครายดังกล่าวจะได้รับเงินจำนวน 49 บาทที่ถูกหักไปก่อนหน้าคืน แต่ผู้บริโภคก็ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และหากเจอเหตุการณ์ดังกล่าวผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร
สุจิตรา สมปานผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค สำหรับกรณีดังกล่าว ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องเงินคือจากผู้บริการค่ายมือถือ พร้อมแนะนำว่า หากผู้บริโภคเจอปัญหาในลักษณะดังกล่าว สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้คือ หนึ่ง ติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือศูนย์บริการเพื่อขอคืนเงินตามจำนวนที่ถูกตัด และสอง แจ้ง กสทช. โทร 1200 หรือผ่าน line @nbtc1200 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ ทั้งแบบเสียเงินและไม่เสียเงินสามารถกดยกเลิกเอสเอ็มเอสกวนใจด้วยตัวเองได้ โดยกด *137 แล้วโทรออก สามารถทำได้ทุกเครือข่าย
สุจิตรา กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น สภาผู้บริโภคเรียกร้อง บริษัท ให้ดำเนินการตามข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในประกาศนี้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
สำหรับการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเอสเอ็มเอสที่กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ ข้อ 5(1) ที่กล่าวถึงการกระทำโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบรายละเอียดของบริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญา และเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง และข้อ 5(2) คือ การกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการโทรคมนาคมโดยผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการนั้น หรือเป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้น หรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือเลือกใช้บริการโทรคมนาคมของผู้บริโภคในการใช้บริการนั้น
ทั้งนี้ ยังเรียกร้อง กสทช. ให้กำกับและติดตามการใช้ประกาศ ฉบับดังกล่าว อย่างเคร่งครัดด้วย