
เสนอแนวคิด ปฏิรูปงบประมาณ ยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย จัดสรรบำนาญถ้วนหน้าให้กลุ่มสูงวัย 3,000 บาทต่อหัวต่อเดือน ที่พรรคการเมืองควรนำไปเป็นนโยบายในเวทีแถลงข่าว ย้ำใครมาเป็นรัฐบาลต้องผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน
วันนี้ (12 มกราคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดงานแถลงข่าว ‘ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญของพรรคการเมือง’ เพื่อผลักดันให้มีนโยบายการสร้างความมั่นคง ทางด้านรายได้ของผู้สูงวัย หรือบำนาญประชาชน

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องบำนาญถ้วนหน้า เป็นสิ่งที่ถูกพูดคุยในแวดวงวิชาการมานานกว่า 10 ปี หากต้องการให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องดังกล่าว เช่น ปฏิรูปงบประมาณ การยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการคลังในการจัดสรรทรัพยากร เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาตัวเลขพบว่าการให้บำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และอาจเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่านั้นหากมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการออมเพิ่มเติม
ดร.ทีปกร อธิบายว่า การใช้งบประมาณสำหรับบำนาญถ้วนหน้า แม้จะจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน ก็ยังน้อยกว่างบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการในระยะยาว และจากการคำนวณพบว่าบำนาญประชาชนสามารถขึ้นไปได้ถึง 6,000 บาท โดยคนที่อยากได้มากกว่า 3,000 บาทจะต้องจ่ายออมเอง และรัฐบาลช่วยสมทบส่วนที่เหลือ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในยุโรปใช้อยู่ในปัจจุบัน
“การให้บำนาญแบบถ้วนหน้านี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน หากใช้กลไกทางการคลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ก็จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาขั้นรากฐานของความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ อยากสื่อสารถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่อยากจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนและนำนโยบายเรื่องบำนาญถ้วนหน้ามาใช้ในการหาเสียงว่า อย่าขายฝันให้กับประชาชน เมื่อหาเสียงแล้วก็อยากให้มีแนวทางการจัดการงบให้สามารถทำได้จริง” ดร.ทีปกร ระบุ

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เปรียบเทียบการผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุหรือบำนาญถ้วนหน้า กับการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ส่งเสริมและคาดว่าจะทำให้การผลักดันบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้น ได้แก่ 1) บำนาญเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ 2) รัฐบาลมีการจ่ายเงินเพื่อสร้างระบบย่อยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเบี้ยยังชีพของประชาชนอยู่บ้างแล้วพอสมควร ขาดแค่เพียงปฏิรูปภาพใหญ่ของระบบ และ 3) ประชาชนไทยกำลังเจอวิกฤตเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ทำที่มีการสำรวจก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ขาดเพียงเรื่องการรวมกลุ่ม จึงเป็นหน้าที่ของ สช. ที่ต้องรวบรวมความเห็นของภาพส่วนต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นนโยบายทางการเมือง
ทั้งนี้ จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ว่าด้วยเรื่องหลักประกันแห่งชาติว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มี 5 สิ่งที่ต้องทำ คือ 1) ระบบสนับสนุนความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้เมื่อเข้าสูงวัย 2) สนับสนุนให้มีการออมระยะยาว 3) รัฐต้องจัดสวัสดิการทางการเงิน ซึ่งจะมีเรื่องของบำนาญถ้วนหน้าอยู่ด้วย 4) เกิดการเข้าถึงหลักประกันเรื่องระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 5) ระบบสนับสนุนให้ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้

ในมิติการคุ้มครองผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีเจตจำนงเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนทุกคนดีขึ้น ประกอบกับการที่กฎหมายออกแบบให้เป็นตัวแทนผู้บริโภคด้วยนั้น สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่าการผลักดันให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะหากทำให้ถ้วนหน้า ทุกคนจะได้รับเงินทั้งหมดและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง ซึ่งการจะทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าได้ต้องเริ่มทดลองปฏิบัติการและลงมือทำเลย อีกทั้งต้องทำให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มระบบในทุกภาคส่วน โดยภาคประชาชนชัดเจนว่าสามารถทำได้
ทั้งนี้ ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้จัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อนำมาทำบำนาญถ้วนหน้าและเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับภาครัฐและพรรคการเมือง อีกทั้งจะมีการหารือกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศในช่วงนี้เกี่ยวกับการรณรงค์กับพรรคการเมืองแต่ละจังหวัดอย่างไรเพื่อทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า

ส่วน นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า อุปสรรคที่ทำให้ขับเคลื่อนบำนาญถ้วนหน้าไม่สำเร็จ เป็นเพราะประเทศยังถูกครอบงำโดยรัฐราชการหรือรัฐเผด็จการ ซึ่งคนที่กุมอำนาจอยู่ยังไม่พร้อมกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้จีงมีความเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้สร้างเครือข่ายทั่วประเทศและสร้างความเข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ทุกคนได้บำนาญถ้วนหน้า อีกทั้งเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้ได้มีการผลักดันแนวคิดนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยตั้งคำถามกับพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบายเกี่ยวกับบำนาญถ้วนหน้าหรือไม่ รวมถึงมีจดหมายถามไปที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบาย และทำหน้าที่ฉายภาพว่าพรรคเหล่านั้นมีหรือไม่ หรือมีข้อสังเกตนโยบายของพรรคเหล่านั้นว่าอย่างไร
นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ฝากถึงประชาชนให้ช่วยส่งเสียงถึงพรรคการเมืองว่าต้องทำบำนาญถ้วนหน้า โดยที่จะทำได้ขณะนี้ คือ การเข้าคูหาเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายทำบำนาญถ้วนหน้าและมีแนวโน้มว่าจะทำจริง ไม่ใช่การขายฝันนโยบายให้ประชาชน
“อยากให้รัฐคิดว่าการทำบำนาญถ้วนหน้าเป็นการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า คือ เครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนประเทศได้ เพราะคนทุกวัยรอนโยบายนี้อยู่” นิมิตร์ ระบุ

อีกหนึ่งมุมมองภาคประชาชน หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุเพียง 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุบางรายอยู่ตัวคนเดียวและยังต้องทำงานอยู่ เพราะเงินที่ได้จากรัฐไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงอยากฝากนักการเมืองทุกคนเห็นความสำคัญและทำบำนาญถ้วนหน้าให้เป็นจริง ไม่ใช่ทำเพียงขายฝันนโยบายแต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วแต่กลับทำไม่ได้จริง
“ขณะนี้การให้เบี้ยยังชีพทำให้คนจนตกหล่น เพราะรัฐมานั่งคัดกรองว่าใครจนหรือไม่จนจริง แต่การทำบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้และยังเป็นการลงทุนที่สำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้ด้วย” หนูเกณ กล่าว