
สภาผู้บริโภค รวมพลังเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 5 จังหวัดภาคตะวันออก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมชวน ระยอง ปราจีนบุรี ตราด ซึ่งมีองค์กรดำเนินงานด้านผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ยื่นจดแจ้งสถานะ หวังให้เป็นที่พึ่งของคนในพื้นที่
วันที่ 11 – 12 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภค จัดงาน “พลังผู้บริโภค ขับเคลื่อนภาคตะวันออกสู่การเปลี่ยนแปลง” ที่โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง เพื่อให้องค์กรสมาชิกภาคตะวันออกได้พบปะแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน เพื่อขยายความเข้าใจบทบาทการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค รวมทั้งรับฟังความเห็นต่อการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค และเพื่อขยายสมาชิกให้ครอบคลุม 8 จังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออก

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีสมาชิก 25 องค์กร ใน 5 จังหวัดของภาคตะวันออกคือ จังหวัดสมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว แต่จังหวัดที่ไม่มีองค์กรสมาชิกอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ปราจีนบุรีและจังหวัดตราด ซึ่งมีองค์กรผู้บริโภคทั่วไปที่ดำเนินงานด้านผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถพัฒนาจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค โดยสภาผู้บริโภคมีเป้าหมายที่จะขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้เกิดสมาชิกในอีก 3 จังหวัดที่เหลือของภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มากไปกว่าการเพิ่มจำนวนสมาชิกคือทำอย่างไรให้องค์กรที่เป็นสมาชิกมีความเข้มแข็ง มีการรวมตัวกัน และพัฒนาไปเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด สามารถรับเรื่องร้องเรียนและจัดการบริหารเรื่องร้องเรียน จนกระทั่งเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคในพื้นที่ได้
“เราไม่ต้องการแค่ให้มีสมาชิก แต่เราอยากจะพัฒนาให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็งลุกขึ้นมาเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ถึงแม้จะมีสำนักงานสภาผู้บริโภคที่กรุงเทพฯ แต่คนที่ภาคตะวันออกมีเรื่องก็ควรจะมีที่ปรึกษาใกล้ตัว”
ปัญหาหนึ่งที่เป็นประเด็นร่วมกันของทั้งประเทศไทย และเป็นปัญหาร่วมของทั้งโลกคือเรื่องภัยไซเบอร์ ถูกดูดเงิน ถูกหลอกลงทุน รัฐบาลชุดก่อนเคยพูดว่าคนไทยเราต้องเข้าสู่โลกดิจิตอล ต้อง ‘ไทยแลนด์ 4.0’ แต่ไม่มีมาตรการที่ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้บริโภค และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันหาวิธีป้องกันปัญหาเหล่านี้ มาตรการหนึ่งที่สภาเสนอเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว คือ ‘มาตรการหน่วงเงิน’ ซึ่งจะช่วยลดความรวดเร็วของการโอน และช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับผู้บริโภคได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.อาหาร และพ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นำเสนอผลงานที่สำคัญของสภาผู้บริโภค โดยระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 โดยช่วยเหลือและทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับการชดเชยเยียวยาหลังเรื่องร้องเรียนยุติคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 675 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้บริโภคด้านคดี 132 คดี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรม 48,101 คน (เรื่อง) ส่วนเรื่องการขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนให้เกิดองค์กรสมาชิกนั้น ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก 329 องค์กรใน 48 จังหวัด มีหน่วยงานประจำจังหวัด 19 หน่วย และ 4 หน่วยงานเขตพื้นที่
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคเดินหน้าผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 8 ด้าน โดยยกตัวอย่างการผลักดันเชิงนโยบายด้านสิ้นค้าและบริการที่ประสบความสำเร็จ คือเรื่อง ‘เปิดก่อนจ่าย’ ซึ่งมีการขับเคลื่อนจะกระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา “เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567” และจะประกาศใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 การออกกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้
สารี ยังหยิบยกเรื่องความพยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอแปลงยาวและพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ที่สภาผู้บริโภคกำลังผลักดัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ส่งผลให้มีไฟสำรองเกินอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นภาระต่อผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าครอบคลุมปริมาณไฟฟ้าสำรองเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ดังนั้น โรงไฟฟ้าจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก จนกว่าประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่าที่เป็นอยู่
ส่วนในช่วงบ่ายมีกิจกรรม world café “การขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค” ร่วมกับสมาชิกภาคตะวันออก โดย ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ อย่างเช่น เรื่องรถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย รวมทั้งพูดคุยถึงวิธีการทำงานในพื้นที่ ประสบการณ์ ปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนปัญหาภาพรวมอย่างเรื่องภัยออนไลน์ และร่วมกันพูดคุยเรื่องการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาพรวมทั้งประเทศอย่างพร้อมเพรียงอีกด้วย






