สภาผู้บริโภค เรียกร้องธนาคารใช้อำนาจ พ.ร.ก.ป้องกันปราบอาชญากรรมไซเบอร์ปิดบัญชีม้าเต็มประสิทธิภาพชงตั้งศูนย์ไซเบอร์รัฐ จัดการปัญหาจัดการมิจฉาชีพเร่งด่วน หลังสถิติการก่อคดีต่อเนื่องและอายัดความเสียหายยังน้อย ไม่เต็มประสิทธิภาพ
วันที่ 19 สิงหาคม 2566 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ระบุว่า ยังเป็นห่วงผู้บริโภค หลังพบมิจฉาชีพไซเบอร์ยังก่อคดีต่อเนื่องหลอกลวงดูดเงินในบัญชีธนาคารของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการโทรศัพท์และส่งลิงค์ให้เหยื่อกดลิงค์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลและดูดเงินไปในที่สุด
ผ่านมา 5 เดือน หลัง พ.ร.ก. ให้อำนาจการอายัดบัญชีม้า ซึ่งสถิติตั้งแต่ต้นปี 2566 ก่อนพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 17 มีนาคม 2566 พบว่า มีเรื่องเรียนแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงเฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน สามารถระงับการทำธุรกรรมหรือ อายัดบัญชีธนาคาร ปกป้องการสูญเสียเงินได้ 6.5% ของความเสียหายทั้งหมด ขณะที่หลังพระราชกำหนดดังกล่าวบังคับใช้ การร้องเรียนลดลงเหลือ 591 เรื่องต่อวัน และมีอัตราการอายัดปกป้องเงินบัญชีได้เพิ่มขึ้นเป็น 10.6% ต่อวันของความเสียหายทั้งหมด
โดยทางสภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่าแม้สถิติจะบ่งชี้ว่า การออกพระราชกำหนดมีผลต่อการลดลงของเรื่องร้องเรียน แต่การจัดการยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อการยับยั้งการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนสูงถึง 591 เรื่องต่อวัน และอายัดบัญชี ปกป้องความเสียหายได้เพียง 10.6% จากความเสียหายทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการอายัดบัญชีม้าของธนาคารยังมีปัญหา ไม่ทันการณ์ จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยสภาผู้บริโภค มีความคาดหวังว่าหลังการออกพระราชกำหนด การอายัดบัญชีม้าควรจะมีประสิทธิภาพยับยั้งการโจรกรรมทางออนไลน์ได้อย่างน้อยที่สุด 50% ในระยะแรก และยับยั้งการรุกคืบของกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ได้ถึง 80% ในระยะยาว เลขาธิการสภาผู้บริโภค จึงเสนอการใช้วิธี ”หนามยอกเอาหนามบ่ง” จัดการปัญหา ด้วยการตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของรัฐ ที่ต้องมีตัวแทนของธนาคาร ตำรวจไซเบอร์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่ว โมง รับเรื่องร้องเรียนและสั่งการระงับธุรกรรมทางการเงินทันทีเมื่อรับแจ้งเหตุมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง ซึ่งเป็นการลดปัญหาที่แต่ละธนาคารไม่มีเบอร์สายด่วนหมายเลขเดียวกัน และโทรศัพท์แล้วไม่ผู้รับสาย รอสายนาน รวมถึง เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรา 7 ในพระราชกำหนด ที่ให้ธนาคารอายัดบัญชีไว้ชั่วคราวชั่วคราวได้ทันที แล้วจึงไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถจัดตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์แบบเบ็ดเสร็จตามที่เสนอได้ทันที ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ก็ขอให้เร่งทำความเข้าใจเรื่องพระราชกำหนดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารทุกสาขาในประเทศเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดบทลงโทษต่อธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตลอดจนให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมรับผิดชอบเยียวยาในจำนวนครึ่งหนึ่งของความเสียหาย หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือธนาคารบกพร่อง ไม่ตอบสนองพระราชกำหนดและไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค
แจ้งเรื่องร้องเรียน – Web : https://www.tcc.or.th , Email : [email protected] , โทร : 0-2239-1839
#สภาองค์การผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #TCC #คุ้มครอง #คุ้มครองผู้บริโภค #ผู้บริโภค
ข่าวโดย : ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค