ภาคประชาชน – นักวิชาการ เห็นพ้อง ‘ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิน – การทำสัญญา Take or Pay’ ต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง แนะพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา ‘ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ’ โดยมีนักวิชาการ อนุกรรมด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค และตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาด้วย
เริ่มต้นจาก ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ที่เปรียบเทียบค่าไฟระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียว่า หากใช้ไฟฟ้าในปริมาณการที่เท่ากัน คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าคนมาเลเซียถึง 2 เท่า เนื่องจากในประเทศมาเลเซียรัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนที่ ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 600 หน่วยต่อเดือน ขณะคนไทยเสียภาษีค่าไฟตั้งแต่หน่วยแรก ทั้งนี้ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้สนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยการใช้วิธีคำนวณค่าไฟฟ้าแบบ ‘หักลบกลบหน่วยค่าไฟฟ้า’ หรือ Net Metering ตั้งแต่เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 แต่ผ่านมาแล้ว 8 เดือนกลับเห็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผศ.ประสาทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยเคยทำวิจัยร่วมกับ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ในเรื่องเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางพลังงานของประเทศไทย ได้ข้อสรุป 2 ข้อดังนี้ 1) ประเทศไทยต้องมีความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องสัญญาและการใช้เชื้อเพลิง และ 2) ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 2 เท่า โดยสามารถทำได้ในทันที
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านพลังงานของไทยในปัจจุบันเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยทำสัญญากับโรงไฟฟ้าในลักษณะ ‘ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย’ หรือ ‘Take or Pay’ ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน เกิด Covid-19 ขึ้นประชาชนจึงถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินทั้งที่ไม่ได้ใช้ คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับเรื่องการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เรียกได้ว่า “ถูกเก็บขึ้นหิ้ง” ไปแล้ว
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ที่มีใจความว่า “…รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ
และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ…” ซึ่ง ศ.ดร.บรรเจิด มีความคิดเห็นว่า คำแนะนำข้างต้นเป็นเปรียบเสมือนคำเตือนเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามมาตรา 56 ที่เน้นหนักไปในเรื่องผลระทบต่อประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของประชาชน
อย่างไรก็ตาม กรณีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มติที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้รับทราบคำแนะนำข้างต้นและเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแทนนั้น อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า การยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองอาจขัดแย้งกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในการเข้ามาผลิตไฟฟ้าสำรอง จนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชน รวมถึงอาจกระทบต่อสถานะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
“สรุปได้ว่าการที่ กบง. มีมติยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การเข้าเงื่อนไขของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ‘หากกำหนดไฟฟ้าสำรองสูงเกินควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้’ ซึ่งที่ผ่านมาหลาย ๆ รัฐบาลเคยถูกตรวจสอบในเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือการทำให้รัฐเสียหายมาแล้ว ” ศ.ดร.บรรเจิด ระบุ
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ต้นตอค่าไฟฟ้าแพงเกิดจาก 5 สาเหตุ ได้แก่ 1) การที่รัฐอนุมัติและรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้ประเทศมีการสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น ปัจจุบันกำลังการผลิตการไฟฟ้าตามสัญญาของประเทศไทยอยู่ที่ 53,458 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณเกือบ 20,000 เมกะวัตต์ หรือมีไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 30 เกินกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น
ขณะเดียวกัน กฟผ. เหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 32 จากในอดีตที่มีสัดส่วนการผลิตเกือบร้อยละ 70 และสัดส่วนการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) กลับมีถึงประมาณร้อยละ 48 แสดงให้เห็นว่าขณะนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญานั้นล้นเกินความจำเป็น
2) การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผิดพลาดในช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทานทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าติดขัดและทำให้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นด้วย 3) การจัดสรรก๊าซธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ถูกกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มอื่นนั้นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาที่มีราคาแพง 4) การปิดกั้นการพึ่งพาตนเองของประชาชน โดยไม่มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาของภาคประชาชน และยังปิดกั้นด้วยราคารับซื้อและความซับซ้อนของการขออนุญาตติดตั้ง
และ 5) เป้าหมายของประเทศไทยในเวทีโลกที่ตั้งเป้าร่วมลดโลกร้อนยังไม่เห็นความชัดเจน ดังนั้นจึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลรื้อโครงสร้างนโยบายด้านพลังงาน และจัดระบบการผลิตไฟฟ้าใหม่เพื่อไม่ให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินควร เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงมากเกินควร
นอกจากนี้ รศ.ดร.ชาลี ยังได้ตั้งคำถามถึงประเด็นที่ กบง. มีมติยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองว่า หน่วยงานอาจต้องการปิดบังข้อมูลของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินควรหรือไม่ จึงได้ยกเลิกและใช้วิธีการหลบเลี่ยงโดยใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) แทน ซึ่งค่าดัชนีดังกล่าวตามมาตรฐานโลกโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงต่อปี แต่ในประเทศไทยนั้นกำหนดให้ไฟฟ้าดับได้เพียง 0.7 วันต่อปี ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำลงไปจากมาตรฐานโลก ดังนั้นยิ่งจำนวนต่ำลงเท่ากับจะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและอาจต้องสำรองไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 19 – 24 ซึ่งก็ขึ้นอยู่ประสิทธิภาพของเครื่องไฟฟ้าด้วย
ส่วน รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยขณะนี้เป็นการผ่องถ่ายกำไรจาก กฟผ. ไปให้กับภาคเอกชน จากข้อมูลพบว่าภาคเอกชนมีการเติบโตมากที่สุด โดยเมื่อปี 2544 โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่เพียงประมาณ 4,926 เมกะวัตต์ จนเมื่อปี 2564 มีกำลังการผลิตถึง 15,499 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ กฟผ. มีกำลังการผลิตเมื่อปี 2544 อยู่ที่ 15,000 เมกะวัตต์ และในปี 2564 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 16,082 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นด้วยเหตุนี้ รสนาจึงเห็นว่า กฟผ. อาจต้องเปลี่ยนชื่อไปเป็นการไฟฟ้าเพื่อการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน หรือ กฟซ. ประกอบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินร้อยละ 15 ซึ่งมากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้ามาตลอดตั้งแต่ปี 2554 ดังนั้นตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบันจึงไม่ควรต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเลย
“กระบวนการของการผ่องถ่ายกำไรไปให้กับภาคเอกชนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2564 และถ้าหากดูในรายละเอียดจะพบว่าตั้งแต่ปี 2557 หลังจากช่วงรัฐประหารเป็นต้นมา เอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็กมีการเติบโตที่สูงขึ้นมาก” รสนา กล่าว
อนุกรรมด้านบริการสาธารณะฯ กล่าวอีกว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีเจตนารมณ์การจัดสาธารณูปโภคให้ประชาชนในราคาที่ถูกที่สุด แต่เมื่อ กฟผ. ทำสัญญาให้เอกชนผลิตไฟฟ้าและส่งผ่านมาให้ กฟผ. นั้นกลับมีราคาที่สูงมาก ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้นเพราะโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ภายใต้การดูแล กฟผ. อย่างไรก็ตาม การเป็นรัฐบาลที่ดีไม่จำเป็นต้องให้ศาลมาตัดสินหรือมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน แต่ควรมีหน้าที่ปฏิบัติและทำเพื่อประชาชน ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่ากิจการที่เป็นสาธารณูปโภคทั้งหลาย รัฐต้องเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และสิ่งนี้เป็นหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ต้องแบกรับภาระราคาที่สูงเกินไปเหมือนในปัจจุบัน
ขณะที่ กิตติชัย ใสสะอาด ประธานเครือข่ายปกป้องไฟฟ้า ประปาและยาเพื่อชาติและประชาชน กล่าวว่า กิจการไฟฟ้าและประปาเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ เนื่องจากจำเป็นต้องทำให้เป็นระบบเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการยกกิจการเหล่านี้ให้เอกชนจะทำให้เอกชนเข้ามามีอำนาจผูกขาดและสุดท้ายภาระค่าไฟฟ้าจะไปตกอยู่ที่ประชาชน
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลปัจจุบันจะไม่มีนโยบายเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือรัฐวิสากิจถูกทำให้อ่อนแอลง ดังเช่นในปัจจุบันที่อนุญาตให้โรงไฟฟ้าเอกครอบครองสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 60 ขณะที่การไฟฟ้าฝ่าผลิตเหลือสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
กิตติชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่ถูกผลักให้เป็นภาระของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เช่น การออกนโยบายคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ รวมถึงการลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าลง ซึ่งส่งผลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีรายต่อเดือนลงลดประมาณ 1,750 ล้านบาท แต่ต้องส่งเงินรายได้ให้รัฐบาลจำนวนเท่าเดิม หรือประเด็นเรื่อง “ค่าความพร้อมจ่าย” หรือ “ค่า Ft” ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยกมาให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของ กฟภ. คิดเป็นเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท
“นโยบายของรัฐบาล เรื่องการลดค่าไฟสำหรับประชาชน ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไฟฟ้าต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แต่เอกชนได้ประโยชน์เพราะไม่ถูกกำกับเรื่องการลดค่าไฟทั้งยังได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างตรงจุด รัฐบาลต้องไปต่อรองกับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำสัญญาแบบ ‘Take or Pay’ ทั้งนี้ อยากเชิญชวนประชาชนทุกคนออกมาร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าไฟโดยเร็ว” กิตติชัย ระบุ
สอดคล้องกับ ปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่าการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจากรัฐวิสากหกิจให้เป็นเอกชน ถือเป็นการขูดรีดประชาชน พร้อมอธิบายว่า รัฐวิสาหกิจแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1) รัฐวิสาหกิจบริโภค เช่น โรงงานยาสูบ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเติบโตของเศรษฐกิจ และคุ้มครองค่าครองชีพของประชาชน พูดอย่างเข้าใจง่ายคือแสวงหากำไร แต่การแสวงหากำไรต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ขณะที่รัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา มีเป้าหมายเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับการแสวงหากำไร และต้องคิดคำนวณค่าบริการโดยคำนึงถึงค่าครองชีพขั้นต่ำของประชาชน เพื่อให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในสังคมสามารถใช้สาธารณูปโภคเหล่านี้ได้ แต่หากนำเรื่องกำไรมาเป็นหลักพิจารณาก็จะไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิมขึ้นอีกด้วย
สำหรับทางออกของปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ปรีชา มองว่าปัจจุบันผู้ที่มีอำนาจกำหนดราคาไฟฟ้าเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นการจะแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องทำให้อำนาจของประชาชนอยู่เหนือคนกลุ่มเก่าที่กุมอำนาจอยู่ ซึ่งแนวทางที่ทำได้ คือการนำพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน ฟังเสียงประชาชน ไปเป็นคนที่กุมอำนาจในการบริหารประเทศแทน เพื่อให้นโยบายและสิ่งต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นไปเพื่อประชาชน
ปิดท้ายด้วย สุมลทา ทองเงิน ตัวแทนกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ที่สะท้อนว่าไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่ซึ่งแต่ละบ้านต้องใช้ทุกวัน เมื่อไฟฟ้ามีราคาแพงจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย จึงอยากฝากทุกพรรคการเมืองที่อาสาจะมาเป็นตัวแทนประชาชนให้เห็นความสำคัญของปัญหานี้และลงมือแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่ต้นตอ สำหรับพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้า ขอให้เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่แค่ขายฝัน หรือพูดเพียงเพื่อต้องการคะแนนเสียงจากประชาชน
“ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดิฉันขอฝากความหวัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะยังหวังได้หรือเปล่า ไว้กับคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน” สุมลทา ระบุ