สภาผู้บริโภค รณรงค์ช่วงสงกรานต์ สวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน พร้อมเร่งหน่วยงานยกระดับความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
วันนี้ (11 เมษายน 2567) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งมวลชนและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ช่วงหยุดยาวอย่างเทศกาลอย่างปีใหม่ รวมถึงสงกรานต์มักเป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบว่าสำหรับช่วงสงกรานต์ปี 2566 (วันที่ 11 – 17 เม.ย. 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน ผู้เสียชีวิต 264 คน ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 80.46 นอกจากนี้ ตัวเลขของกรมการขนส่งทางบกเมื่อปี 2564 ระบุว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์ร้อยละ 75.6 ที่เสียชีวิตไม่สวมหมวกกันน็อก
คงศักดิ์กล่าวอีกว่า จากตัวเลขจะเห็นว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตมาจากการที่ผู้ขับขี่ไม่สวมใส่หมวกกันน็อก นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สภาพผู้ขับขี่ไม่พร้อม เส้นทางการขับขี่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากการสวมใส่หมวกกันน็อกที่ไม่ได้มาตรฐาน
“การขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อกนั้นผิดกฎหมาย แลมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามการสวมหมวกกันน็อกที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานเช่นกัน และในบางกรณีอาจะทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น หากเลือกหมวกกันน็อกที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจมีโอกาสที่ที่บังลมจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และบาดใบหน้าหรือทำร้ายอวัยวะสำคัญอย่างดวงตาได้” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งกล่าว
สำหรับวิธีในการเลือกหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานในเบื้องต้น คงศักดิ์ระบุว่า ต้องเลือกซื้อหมวกที่มี เครื่องหมายการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คู่กับสัญลักษณ์คิวอาร์โค้ด ที่ผู้บริโภคสามารถสแกนหาข้อมูลรายละเอียดของสินค้าได้ นอกจากนี้หมวกกันน็อกที่ดีจะต้องมีสายรัดคาง รูระบายอากาศ ช่องฟังเสียง และที่บังลมโปร่งแสง นอกจากนี้ควรเปลี่ยนหมวกกันน็อกทุก 5 ปีนับจากวันผลิต และหากหมวกกันน็อกถูกกระแทกจากการประสบอุบัติเหตุ ควรเปลี่ยนใบใหม่เนื่องจากแผ่นรองรับแรงกระแทกถูกใช้งานไปแล้ว ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกซ้ำได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เผยแพร่ผลทดสอบหมวกกันน็อก จำนวน 25 ยี่ห้อที่ขายอยู่ตามท้องตลาด โดยผลจากการทดสอบพบว่า มีหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานจำนวน 14 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นแบบครึ่งใบและเต็มใบ สำหรับแบบครึ่งใบ ได้แก่ ยี่ห้อ SPACE CROWN รุ่น TROOPER, ยี่ห้อ SPACE CROWN รุ่น CT-900 และยี่ห้อ INDEX รุ่น LADY ส่วนแบบเต็มใบปิดหน้า ได้แก่ ยี่ห้อSHOEI รุ่น Z-7+, ยี่ห้อ AGV รุ่น K1, ยี่ห้อ INDEX รุ่น SPARTAN, ยี่ห้อ HJC รุ่น I-10, ยี่ห้อ REAL รุ่น Falcon, ยี่ห้อ REAL รุ่น VENGER-Plus, ยี่ห้อ INDEX รุ่น PROTO XP-22, ยี่ห้อ SHOEI รุ่น NEOTEC2 และยี่ห้อ BILMOLA รุ่น EXPLORER แบบเต็มใบเปิดหน้า ได้แก่ ยี่ห้อ AGV รุ่น ORBYT และ ยี่ห้อ REAL รุ่น Vintage I Solid (อ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่นี่ : เปิดผลทดสอบหมวกกันน็อก ยี่ห้อไหนได้มาตรฐาน)
นอกจากการทดสอบหมวกกันน็อกแล้ว สภาผู้บริโภคยังมีข้อเสนอไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานของหมวกกันน็อกในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และได้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 โดยข้อเสนอที่ส่งไปยังหน่วยงานมี 4 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้ สมอ. บังคับใช้กฎหมาย นำหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานออกจากตลาดโดยเร็ว และมีมาตรการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดต่อกฎหมาย
2. ขอให้กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่ที่มีคุณภาพ และผลักดันความรู้วิธีการในการเลือกหมวกกันน็อกและการสวมใส่ให้ถูกวิธีในหลักสูตรการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่
3. ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จัดสถานที่และบริการฝึกปฏิบัติทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับหมวกกันน็อก เช่น การวัดขนาด การเลือก และการสวมใส่ที่เหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
และ 4. ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตระบุขนาดศีรษะที่เหมาะสมสำหรับหมวกกันน็อกแต่ละใบ ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ
สำหรับผู้บริโภคที่พบหมวกกันน็อกไม่มีเครื่องหมาย มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ด พบสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. หรือพบปัญหาอื่น ๆ เช่น สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วไม่พบรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า สามารถแจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ที่เว็บไซต์ https://service.tisi.go.th/tisi-webboard/ และคลิกคำว่า ‘ร้องเรียน’ หรือโทรศัพท์สอบถามที่เบอร์ 0-2430-6815 โดยเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว สมอ. มีรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแส และผู้ประกอบการที่ไม่ปรับแก้ไขให้ถูกต้องอาจถูกพักใช้ใบอนุญาต
นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภค ได้อีกหนึ่งทางผ่านเว็บไซต์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=warning จากนั้นสภาผู้บริโภคจะส่งต่อข้อมูลถึง สมอ. ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป