สภาผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคสงขลา เครือข่ายผู้บริโภค 13 จังหวัด ลงพื้นที่ภูเก็ต ศึกษาดูงานระบบขนส่งสาธารณะ ตั้งเป้าพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ พร้อมจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ผู้สมัคร อบจ. ใน 4 จังหวัดภาคใต้
วันที่ 9 – 10 มกราคม 2568 สภาผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคสงขลา และเครือข่ายผู้บริโภค 13 จังหวัด ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดภูเก็ต โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ โดยในวันที่ 9 เป็นกิจกรรมการศึกษาดูงานครั้งนี้ครอบคลุม 2 เส้นทางหลัก ได้แก่
- สายสีแดง เส้นทางท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง – ห้างซุปเปอร์ชีป จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
- Dragon Line รถบัสโดยสารฟรีในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ดำเนินการโดยบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD)
และวันที่ 10 เป็นเวทีสร้างความร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการเข้าถึงการบริการขนส่งสาธารณะโดยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคซึ่งมีการนำเสนองานวิจัย “บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการพัฒนาระบบขนส่งและพาหนะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในเมืองหลักส่วนภูมิภาคของไทย” เปรียบเทียบบทบาทท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวทางปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาผู้บริโภคปักธง ร่วมพัฒนาขนส่งภูเก็ต ยกระดับคุณภาพชีวิต
จาก ‘Car Free Day’ สู่ ‘Just City’ ชวนร่วมพัฒนาระบบขนส่ง เพื่อสร้างเมืองที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ได้สะท้อนปัญหาพร้อมเสนอแนวทางในพื้นที่ อาทิเช่น ข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่มีอำนาจในการกำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการ หรือค่าโดยสาร เนื่องจากติดปัญหาด้านกฎหมาย และอีกปัญหาส่วนหนึ่งมาจากระบบขนส่งไม่ชัดเจนประชาชนจึงจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวและส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สมัคร อบจ. ใน 4 จังหวัด ได้นำเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาระบบขนส่ง ดังนี้ จ.ภูเก็ต เสนอแนวคิด 4 ด้าน คือ การออกแบบเส้นทาง ยานพาหนะ แพลตฟอร์ม และการจัดการด้านการเงินและการลงทุนร่วมกับเอกชน จังหวัดสงขลา เสนอแนวทางแก้ไข 4 ประการ โดยเน้นการใช้ GPS และแอปพลิเคชันเพื่อบอกเวลาและเส้นทางเสนอการร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) แบบชานต่ำได้และการแก้ไข พ.ร.บ. ขนส่งทางบก เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง
ส่วน จังหวัดพัทลุง เน้นความเพียงพอและทั่วถึงของระบบขนส่ง โดยจะเริ่มจากเส้นทางหลักแล้วขยายสู่เส้นทางรองให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและมาตรฐานของรถโดยสาร รวมถึงการกำหนดความเร็ว จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ การขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่เป็นรถตู้, รถเมล์ไฟฟ้า และรถสองแถว เสนอให้ปรับรถสองแถวเป็นรถตู้และให้ผู้ประกอบการเดิมมีส่วนร่วมในการจัดการ เสนอให้จัดรถตู้โดยสาร (shuttle van) วิ่งตามเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดเสนอให้ใช้แอปพลิเคชันคล้ายแกร้บเพื่อให้รถบ้านสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวได้