สภาองค์กรของผู้บริโภคยืนยัน การปล่อยให้เอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 ทำให้ กฟผ. ผลิตลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 ขัดรัฐธรรมนูญและเป็นสาเหตุค่าไฟแพง
จากกรณีที่ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยกรณีการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าร้อยละ 50 เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลฯ ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าการที่ให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้านั้นทำได้ และมีข้อแนะนำว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงกําหนดปริมาณไฟฟ้าสํารอง นั้น
วันนี้ 11 มกราคม 2566 รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ว่า แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถาม เนื่องจากประเด็นคำร้องของสุทธิพร ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือการที่รัฐปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามาถึงร้อยละ 70 ทำให้ กฟผ.มีการผลิตลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 นั้นเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสองประกอบมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ โดยมิได้ร้องเพื่อให้วินิจฉัยว่าการให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 หรือไม่
ทั้งนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับข้อเท็จจริงว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ.ในช่วงปลายอยู่ที่ระดับร้อยละ 30 เท่ากับยอมรับว่ายุทธศาสตร์และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำลงกว่าร้อยละ 51 ซึ่งตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 วรรค 2 ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้
นอกจากนี้ รสนาตั้งข้อคำถามอีกว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงเอกฉันท์แนะนำให้รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบไฟฟ้าของประเทศ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่ามีการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นใช่หรือไม่จึงออกข้อแนะนำดังกล่าว
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่ามีการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่ไม่มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียงแต่ทำเป็นข้อแนะนำเท่านั้น จึงอาจไม่ผูกพันให้ผู้ถูกร้องต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และตั้งข้อสังเกตว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดีที่สุทธิพรร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
รสนายืนยันว่า จากเนื้อความตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 วรรค 2 มีการกำหนดสัดส่วนในการถือครองสาธารณูปโภคของรัฐและเอกชนไว้อย่าชัดเจน ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลที่ส่งผลให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 และทำให้การผลิตของ กฟผ.เหลือเพียงร้อยละ 30 ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งยังส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัย กรณีการกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่
จากการร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง (กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสาม และวรรคสี่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้