สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรู – ดีแทค และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค รวมทั้งได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้นำรายชื่อผู้บริโภคจำนวน 2,022 ราย ที่ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนการฟ้องคดีดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองด้วย โดยประเด็นการฟ้องคดี มีดังนี้
มติของ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่เห็นว่า การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมและให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ
สาเหตุที่กระบวนการลงมติฯ มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ก่อนมีการลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ทั้งที่มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีจำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด และก่อนการลงมติคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการรับฟังรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทางสำนักงานฯ ได้ว่าจ้าง
อีกทั้ง ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาดขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555
นอกจากนี้ เนื้อหาของมติดังกล่าวก็มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยขัดต่อข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาต หรือไม่อนุญาตเท่านั้น
การที่มติของ กสทช. เพียง “รับทราบ” จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมาตรการและเงื่อนไขดังที่ กสทช. กำหนด ยังคงได้รับข้อท้วงติงจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการมีมติ ว่าไม่สามารถแก้ไขหรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้โดยยังขาดการกำหนดมาตรการและเงื่อนไขที่เข้มข้นในเชิงโครงสร้างและยังคงต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับเชิงพฤติกรรม
จากพฤติการณ์ของ กสทช. ดังกล่าวข้างต้น อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและดำเนินการให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และขัดต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 รวมถึงขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ตลอดจนไม่เป็นไปตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2562 – 2566)
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อขอให้ศาลโปรดมีคำสั่ง ดังนี้
1. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ทั้งหมด โดยให้ผลแห่งการทุเลาคำสั่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565
2. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามหรือระงับการกระทำและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ทั้งหมดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
3. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการชะลอหรือระงับการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบบริษัทระหว่างทรูและดีแทคไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
4. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชะลอหรือระงับการรับจดทะเบียนและการดำเนินการควบรวมบริษัททรูและดีแทคไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา