สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. ให้ยึดมั่นต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
จากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอควบรวมธุรกิจต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 และ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาคำขอควบรวมของทั้งสองบริษัท เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีวาระในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นั้น
วันนี้ (10 ตุลาคม 2565) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ยึดมั่นต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานฯ กสทช. และ ศ.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. เป็นผู้รับจดหมาย
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ตามแผนแม่บทของ กสทช. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 – 2566 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ระบุถึงเรื่องการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยมีตัวชี้วัด การเพิ่มขึ้นของระดับความครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ การเพิ่มขึ้นของระดับการแข่งขันการประกอบกิจการโทรคมนาคม การมีหลักเกณฑ์ส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคม และการมีกลไกในการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการกำกับดูแลนั้นสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
สุภิญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ
อีกทั้งหากวิเคราะห์ตาม มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2549 จะพบว่า มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน จึงคาดหวังว่า กสทช. จะใช้หลักการดังกล่าวในการพิจารณากรณีการควบรวมดังกล่าว
ศ.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. ระบุว่า จากที่ กสทช. ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค ทำให้ทราบดีว่าการพิจารณานั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพราะฉะนั้น กสทช. ก็ต้องทำงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหลักการเรื่องประโยชน์สาธารณะรวมถึงการอย่างเสรีและเป็นธรรมก็เป็นหลักสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ศ.พิรงรอง กล่าวอีกว่า ในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 จะมีการนำวาระเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู – ดีแทค เข้าที่ประชุม แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการพิจารณาจะออกเมื่อไร เนื่องจากต้องรอมติที่ประชุม รวมถึงต้องพูดคุยเรื่องรายละเอียดและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. แล้ว ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้ไป สักการะและวางดอกไม้หน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) บริเวณหน้าสำนักงาน กสทช. เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 11 ปี กสทช. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา และเพื่อขอพรให้การยื่นหนังสือและเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี