เสียงสะท้อนชาวใต้ แผน PDP ต้องมุ่ง ส่วนร่วมประชาชน

เสียงสะท้อนชาวใต้ แผน PDP ต้องมุ่ง ส่วนร่วมประชาชน

เสียงสะท้อนผู้บริโภคภาคใต้ เรียกร้องรัฐ หยุดเพิ่มค่าไฟ – หยุดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ – ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ย้ำ รัฐต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบชุมชน เพิ่มสัดส่วนโซลาร์ภาคประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับแผน PDP

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ในเวที “แผน PDP 2024 คนใต้ว่าพรือ” ที่สภาผู้บริโภค ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคสงขลา และ JustPow จัดขึ้น ได้มีการเรียกร้องให้รัฐจัดทำแผน PDP หรือร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดแผน PDP ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาครัฐและประชาชน นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้นำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผน PDP การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้า ความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายและเพิ่มสัดส่วนของโซลาร์รูฟทอปภาคประชาชน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในสถาบันอาชีวศึกษาต่าง ๆ ด้วย

ซึ่งเวทีนี้ได้เปิดเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง PDP (Power Development Plan) จัดโดยภาคประชาชน เพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้เสียงของคนใต้ถูกรับฟังในร่างแผน PDP 2024 ที่รัฐกำลังพัฒนาและเตรียมนำไปรวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan: NEP)

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 2 สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นในแผน PDP 2024 คือ
1) ความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟทอป เนื่องจากในแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ร้อยละ 16 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่ไม่ได้ระบุว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีโซลาร์ภาคประชาชนอยู่ในแผน 2) การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (Energy Efficiency : EE) โดยเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และสามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้

ส่วน 7 สิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการเห็นในแผน PDP 2024 คือ 1) การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง 2) แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลเพิ่มเติม 3) การลงทุนเพิ่มในเรื่องก๊าซธรรมชาติและผลักดันให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ 4) การสร้างไฟฟ้าใหม่ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 5) การใช้พลังงานฟอสซิลที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเรื่องการอ้างปลูกป่าชดเชย 6) การนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำมาใช้กับโรงไฟฟ้าฟอสซิล ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยอ้างเรื่องการลดมลพิษ และ 7) การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในต่างประเทศ โดยบรรจุอยู่ในหมวดหมู่พลังงานสะอาด ทั้งที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งทั้ง 7 สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ผศ.ประสาท มีแต้ม

ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า หากต้องการให้ค่าไฟฟ้าถูกลงต้องสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้พลังงาน 3 ประเภท ที่เรียกว่าเอสดับบลิวบี (SWB) ซึ่ง S คือ พลังงานจากแสดงอาทิตย์ (Solar) W คือ ลม (Wind) และ B คือ แบตเตอรี่ (Battery) ซึ่งสามารถใช้ทดแทนกันได้ ‘เวลาไม่มีลมก็ใช้แดด ไม่มีแดดก็เอาแบตเตอรี่มาใช้’ โดยในต่างประเทศมีการศึกษาและใช้งานพลังงานดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการนำพลังงาน SWB มาใช้ลดลงกว่าร้อยละ 70 – 80 จะลดลงอีกร้อยละ 30 – 40 ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผศ.ประสาท ยกตัวอย่าง รัฐแคลิฟอร์เนีย ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้ SWB เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีต้นทุนการผลิตและกักเก็บไฟฟ้าอยู่ที่ 3.1 เซนต์หรือเท่ากับ 1.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่แผน PDP 2024 ของประเทศไทยทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า 4 บาทต่อหน่วย โดยที่ยังคงมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึงเกือบร้อยละ 40

“ถึงเวลาที่ต้องคิดใหม่เรื่องพลังงาน เนื่องจาก 6 ภาคส่วนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคพลังงาน การขนส่ง สารสนเทศ อาหาร วัสดุ รวมถึงภาคแรงงาน ได้ถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหลายร้อยเท่า ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะยึดติดอยู่กับพลังงานในรูปแบบเก่า ๆ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม และควรสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดมลภาวะ ประหยัดพลังงาน และประหยัดเงินในประเป๋าของทุกคนได้ด้วย” ผศ.ประสาท ระบุ  

ทั้งนี้ในช่วงระดมความคิดเห็นและข้อเสนอ ยังมีเสียงของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่สะท้อนและเรียกร้อง 6 ประเด็น คือ

1) เสนอให้ทำแผน PDP จากระดับล่างขึ้นบน เช่น ในระดับจังหวัด ซึ่งต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อกำหนดภาพอนาคตในแต่ละพื้นที่ว่าอยากจะเป็นแบบไหน มีสิ่งใดที่ต้องการหรือไม่ต้องการ รวมทั้งต้องนำเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบมาก่อน มาใช้ในการพิจารณาทำแผน PDP 2024 ด้วย

2) เรียกร้องให้นำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผน PDP 2024 เพราะเป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่น้อยมาก ต้องใช้งบในการลงทุนสูง ซึ่งส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต ทั้งยังมีความซับซ้อนในการบริการจัดการกากของเสีย นอกจากนี้ยังสามารถใช้พลังงานอื่น เช่นพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนได้

3) คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ตอบโจทย์การใช้เศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตไฟฟ้า เนื่องด้วยในพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่มีวัสดุเพียงพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้ต้องตัดไม้มาเผาเพื่อเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากพื้นที่อื่น พร้อมเรียกร้องให้เยียวยาให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการมีโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน และหากชุมชนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เนื่องจากโรงไฟฟ้า ต้องย้ายออก ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

4) เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายให้โรงไฟฟ้าทุกขนาดไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) เนื่องจากกฎหมายผังเมืองที่อนุญาตให้โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ สามารถตั้งในชุมชนได้โดยไม่ต้องทำ EIA ซึ่งไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

5) เรียกร้องให้กำหนดและเพิ่มสัดส่วนของโซลาร์รูฟทอปภาคประชาชนในแผน PDP 2024 ให้เต็มศักยภาพของหลังคาครัวเรือน และหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงให้ปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ในการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปของประชาชนโดยเร็วที่สุด

6) ขอให้รัฐเร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในสถาบันอาชีวศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอ รองรับการเติบโตของโซลาร์เซลล์ในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 ได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ หรืออ่าน “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” จัดทำโดย JustPow ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารประเด็นเรื่องพลังงานในประเทศไทย ได้ที่ https://justpow.co/project-ebook-pdp/  

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค