สภาผู้บริโภค ร่วมกับ สปสช. และสพฉ. เปิดเวที “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ ไม่ต้องสำรองจ่าย” ทบทวนนโยบายและสะท้อนปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและเข้าใจตรงกันเรื่องคำว่า ‘ฉุกเฉินวิกฤติ’
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2566) สภาผู้บริโภค ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ผู้วิจัยโครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ สิทธิยูเซ็ป (UCEP) จัดแถลงข่าว เรื่อง “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ ไม่ต้องสำรองจ่าย” เพื่อเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายยูเซ็ป UCEP ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อร่วมสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่นำไปสู่การพัฒนา ดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ
เริ่มที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ สิทธิยูเซ็ป ถูกประกาศใช้ในปี 2560 และต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายรัฐที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันท่วงที จนพ้นวิกฤติและเคลื่อนย้ายได้ แต่ไม่เกิน 72 ชม. ไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน แต่ก็มีจุดที่ต้องแก้ปัญหา เพราะยังมีกรณีการประเมินอาการผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์ ถูกเรียกเก็บเงินก่อนการรักษา และไม่สามารถใช้สิทธิยูเซ็ป ได้ รวมถึงกรณีถูกเรียกเก็บเงินในช่วงรักษา 72 ชม.
ข้อมูล สภาผู้บริโภค ตั้งแต่ ก.ค. 2564 – 30 มี.ค. 2566 การร้องเรียนด้านบริการสุขภาพ พบว่า ปัญหาสิทธิยูเซ็ป มีจำนวนสูงเป็นอันดับ 3 หรือ 232 เรื่องจาก 1,979 เรื่อง หรือร้อยละ 11.72 แยกเป็นกรณี 1. ได้รับความเสียจากการรักษาพยาบาล 56 เรื่อง 2. ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิฉุกเฉิน 53 เรื่อง 3. ไม่ได้รับบริการ 42 เรื่อง 4. ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร 39 เรื่อง 5. ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข 35 เรื่อง 6. ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง 4 เรื่อง และ 7. ไม่สามารถส่งต่อ 3 เรื่อง
สารี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา และได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการควบคุมการบริการของสถานพยาบาลเอกชนให้เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์บริการต่าง ๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะกองทุนรักษาพยาบาลที่ดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
“วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่สภาผู้บริโภค ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ต้องได้รับสิทธิในการเข้ารักษาพยาบาลเพื่อช่วยเหลือชีวิต ในช่วงระยะเวลา 72 ชม. จากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน โดยต้องขอความร่วมมืออีกครั้งจากโรงพยาบาลเอกชนในการดูแลประชาชน ซึ่งขอให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การให้บริการของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมกันนี้ก็ขอชื่นชมไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ร่วมให้บริการตามหลักเกณฑ์ ที่แม้การดำเนินงานของโรงพยาบาลจะอยู่บนผลกำไรและขาดทุน แต่มีจริยธรรมทางการแพทย์ที่คำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย” สารี กล่าว
นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เสนอว่า หน่วยงานกำกับดูแลควรมีเบอร์ที่เป็นศูนย์กลาง เช่น 1669 หรือเบอร์อื่น ๆ ที่ประชาชนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามในเรื่องของนิยามคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ ได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกับเจ้าหน้าที่ว่าอาการแบบไหนถึงเรียกว่าฉุกเฉิน ในเบื้องต้นควรขยายขอบเขตของคำว่าฉุกเฉิน นอกจากฉุกเฉินสีแดง ควรเพิ่มอุบัติเหตุ เข้าไปในฉุกเฉินด้วย และประชาชนทุกคนควรเข้าถึงรถฉุกเฉินได้ตามอาการของโรคในระยะเวลาที่เหมาะสม สุดท้ายนี้สภาผู้บริโภคคงยังต้องติดตาม และผลักดันการแก้ไขปัญหาให้บรรลุเป้าหมายของนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่” นี้ต่อไป
ด้าน ดร.ภญ.ศีลจิต อินทรพงษ์ รองโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ ศคส.” ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และ โรงพยาบาลเอกชน กรณีที่มีปัญหาคัดแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยใช้โปรแกรม Emergency Pre – authorization (PA) เพื่อคัดแยกตามกลุ่มอาการ โดยสถานพยาบาลจะทำการกรองข้อมูลอาการ สัญญาณชีพลงในโปรแกรม ซึ่งจะประเมินว่าเข้าเงื่อนไขสิทธิยูเซ็ป หรือไม่ อาทิ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หาจใจมีเสียติดขัด ซึมลง เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชักต่อเนื่องไม่หยุด เป็นต้น ทั้งนี้จะมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ปรึกษา ศคส.สพฉ. ให้คำปรึกษาคัดกรองอาการอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤติฉุกเฉิน แต่ไม่เกิน 72 ชม. ไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ถึงวันนี้ราว 6 ปีแล้ว สพฉ.ได้ทำงานร่วมกับ 3 กองทุน ซึ่งมี สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) มีการกำหนดอัตราค่าบริการร่วมทั้ง 3 กองุทน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวจ้องทำหน้าที่ Regulator ด้านกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ป่วยรายใดประสงค์ยื่นอุทรณ์ หรือร้องเรียนการรักษาตามสิทธิยูเซ็ป สามารถติดต่อสอบถาม ศคส.สพฉ. หมายเลข 02-872-1669” รองโฆษก สพฉ. กล่าว
ส่วน ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อมูล สปสช. จากปี 2560 ที่ การเปิดใช้สิทธิยูเซ็ปได้เริ่มต้นขึ้น ได้มีประชาชนรับบริการ 3,896 ครั้ง ปี 2561 เพิ่มเป็น 12,919 ครั้ง ปี 2564 เพิ่มเป็น 18,547 ครั้ง โดยปี 2566 ข้อมูล ต.ค. 65 – มิ.ย. 66 มีประชาชนรับบริการตามสิทธิ แล้ว 16,976 ครั้ง แต่ในปี 2565 เป็นที่น่าสังกตุว่า จำนวนของการรับบริการตามสิทธิยูเซ็ป ได้เพิ่มสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว 499,876 ครั้ง เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงกรณียกเลิกสัญญากับหน่วยบริการ สปสช. ในปีนั้น โดยสรุปในช่วง 6 ปี มีประชาชนรับบริการ UCEP ทั้งหมด 587,960 ครั้ง
ขณะที่การร้องเรียนมายังสายด่วน สปสช. 1330 พบว่าตลอด 6 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 7,522 เรื่อง โดย 2560 มี 47 เรื่อง และปี 2561-2563 ลดลงอยู่ที่ 21 เรื่อง, 7 เรื่อง และ 6 เรื่อง (ตามลำดับ) แต่ปี 2564 การร้องเรียนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,791 เรื่อง และปี 2565 อยู่ที่ 3,257 เรื่อง แต่ปี 2566 (ต.ค. 65 – มิ.ย. 66) ลดลงอยู่ที่ 393 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มากที่สุด 4,811 เรื่อง รองลงมาสิทธิประกันสังคม 1,904 เรื่อง และสิทธิข้าราชการ 481 เรื่อง และสิทธิบุคคลต่างด้าว 145 เรื่อง นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิอื่น ส่วนการร้องเรียนมี 2 ประเด็นใหญ่ คือกรณี โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินโดยตรง ไม่เบิกจ่ายจาก สปสช. 5,144 เรื่อง และกรณีโรงพยาบาลเบิกจ่ายจาก สปสช. พร้อกับแจ้งให้ประชาชนร่วมจ่าย 2,378 เรื่อง
ดวงนภา กล่าวถึงการใช้สิทธิยูเซ็ปกับโรงพยาบาลรัฐ อีกว่า อัตราการจ่ายเงินระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีการจ่ายเงินคนละอัตรา แต่ในปัจจุบันได้เริ่มให้มีการเก็บเงินค่ารักษาในอัตราเดียวกันแล้ว “หลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว เบื้องต้นจะประสานข้อมูลกับโรงพยาบาล ที่เรียกเก็บก่อนเพื่อขอข้อมูลพร้อมชี้แจงหลักเกณฑ์ ทำความเข้าใจกับโรงพยาบาล ซึ่งบางครั้งอาจไม่เข้าสิทธิและเบิกจ่าย ขณะเดียวกันก็ส่งคำร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้วิจัยโครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) กล่าวว่า จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Emergency Claim Online : EMCO) ที่เริ่มในปี 2555 ไปสู่นโยบาย สิทธิยูเซ็ป ที่ได้ปรับอัตราการเบิกจ่ายมากขึ้น รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ที่รักษาเฉพาะผู้ป่วยเกณฑ์สีแดงที่มีจำนวนน้อย ไม่ร่วมผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว ทั้งจำกัดเวลาดูแล 72 ชม. ทำให้ โรงพยาบาลเอกชนพึงพอใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อดูข้อมูลร้องเรียนพบว่า กรณีการถูกเรียกเก็บเงินและปฏิเสธการรักษา โดยเฉพาะใน โรงพยาบาลระดับสูงก็ยังมีอยู่ ขณะที่จำนวนการร้องเรียนที่ สพฉ. ระบุเหลือเพียงแค่ร้อยละ 5 มองว่าอาจเป็นการพูดเกินจริงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงนโยบายอีเอ็มซีโอ (เจ็บป่วยฉุกเฉิน) ที่มีการ้องเรียนจำนวนมาก ประกอบกับในภาวะที่ผู้ป่วยเชื่อว่าตัวเองอยู่ในเกณฑ์สีแดง แต่ โรงพยาบาลระบุเป็นอาการสีเหลือง ในภาวะเข้าด้ายเข้าเข็มนี้ ทำให้ญาติตัดสินใจจ่ายเงินรักษาเองที่เป็นการปิดโอกาสที่จะร้องเรียนด้วย
ในมุมนักวิชาการ คนไข้สีเหลืองมีโอกาสกลายเป็นสีแดงจากการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ หรือในจังหวะการประเมินที่อาการยังไม่ถึงสีแดง อีกทั้งการจำกัดเวลา 72 ชม. ก็เป็นช่องโหว่ในแง่ความปลอดภัยของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับนโยบายอีเอ็มซีโอ ที่ดูแลจนกว่าผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลนอกจากนี้ยังมีประเด็นการนำส่งที่พบว่าแต่ละวันมีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ไม่ถึงร้อยละ 10 คำถามคือแล้วจะอุดช่องว่างเหล่านี้อย่างไร ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ สพฉ. มีความสามารถทำได้เท่านี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก 1. อาจถูกจำกัดด้วยงบประมาณ 2. ถูกจำกัดในการสร้างแรงจูงใจ หรือหากลไกอื่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือ รวมทั้งยังมีประเด็นการอบรมเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ยังทำได้น้อยในแต่ละปี
ด้าน นพ.ณัฐวุฒิ เอี่ยงธนรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะตัวแทนคณะผู้วิจัยติดตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (สิทธิยูเซ็ป) กล่าวว่า ผลการศึกษานโยบายสิทธิยูเซ็ป หากมองความสำเร็จเชิงนามธรรมขับเคลื่อนมี 3 ประเด็น คือ 1. ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วย ลดความเหลื่อมล้ำทุกสิทธิในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 2. หลักเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย โรงพยาบาลเอกชนยอมรับได้ มีความชัดเจนของอาการฉุกเฉินวิกฤติ 3. วิธีการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแบบเดียวกันไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาใด ส่งผลให้คุณภาพการรักษาเท่าเทียมกัน อัตราการเสียชีวิตในแต่ละสิทธิการรักษาไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีความสำเร็จ 3 ข้อนี้เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในเชิงนามธรรม แต่ถ้ามองความสำเร็จในเชิงรูปธรรมโดยยึดคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ จากการศึกษาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินตรงตามระดับความเร่งด่วนของการรักษาพยาบาลตามที่โฆษณาไว้
ส่วนปัญหาการดำเนินนโยบายพบใน 4 ประเด็น ที่เป็นเชิงคุณภาพการรักษา คือ 1. ความแตกต่างของคุณภาพบริการในแต่ละภูมิภาค 2. มีช่องว่างในกระบวนการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาล 3. ผู้ป่วยร้อยละ 20 – 30 ยังถูก โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินมัดจำก่อนให้บริการ และ 4. ผู้ให้บริการยังมีปัญหาบันทึกข้อมูล เพื่อเข้าระบบคัดแยกระดับความเจ็บป่วย (Pre – authorization) ไม่ครบถ้วน นอกจากนี้การจำกัดเวลาในระบบสิทธิยูเซ็ป ที่ 72 ชม. ยังไม่สอดคล้องกับอาการผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนา คือ ให้ขยายนโยบาย UCEP ไปสู่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ป่วยวิกฤติทุกคนจะเข้าถึงการรักษาอย่างทันการณ์ มีคุณภาพและทั่วถึง และ แก้ไขกฎระเบียบด้านการเงินให้ยืดหยุ่นใกล้เคียงโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งส่งเสริมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีบทบาทพัฒนาเครือข่ายบริการกู้ชีพร่วมกับ โรงพยาบาลสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และมูลนิธิต่างๆ เพื่อลดความแตกต่างของบริการกู้ชีพระหว่างภูมิภาค
ปิดท้ายที่ พงษ์ชัย มณีโชติ บุตรชายของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 บิดาของตนเส้นเลือดในสมองแตก นำส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเวลา 17.30 น. แพทย์ประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติและให้การรักษา ต่อมาเวลา 19.44 น. แพทย์แจ้งว่าพ้นภาวะวิกฤติแล้ว จากนั้น โรงพยาบาลได้ให้ญาติ น้องสาวเซ็นตนหนังสือรับทราบสิทธินโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ด้วยที่น้องสาวไม่ทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์และต้องการให้บิดารักษาต่อเนื่อง จึงเซ็นว่าไม่ประสงค์ย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิ วันต่อมาตนได้เข้าแจ้งขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ เมื่อครบ 72 ชม. ปรากฎว่า โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวได้เรียกเก็บเงิน 95,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า แพทย์วินิจฉัยว่าพ้นวิกฤติแล้วตั้งแต่ 19.44 น. และญาติผู้ป่วยไม่ประสงค์ส่งต่อ โรงพยาบาลจึงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 19.44 น. ของวันที่ 7 ก.ค. 2565 ถึงวันที่ 10 ก.ค. 2565
“เราเข้าใจว่าภายใน 72 ชม. สามารถใช้สิทธิยูเซ็ปได้ จึงร้องเรียนไปที่ สพฉ. วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 และได้หนังสือตอบกลับในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2566 ระบุว่า โรงพยาบาลแจ้งเหตุผลเหมือนข้างต้นคือผู้ป่วยพ้นวิกฤติแล้วญาติไม่ประสงค์ให้ส่งต่อ ถึงตอนนี้ก็ไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด ตรงนี้ถือเป็นช่องว่าง เพราะเราเข้าใจว่าใน 72 ชม. สามารถใช้สิทธิรักษาฉุกเฉินวิกฤติได้ เพื่อให้ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องก่อน ดังนั้นจึงควรมีการชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดปัญหาการใช้สิทธิ” พงษ์ชัย กล่าว