Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีระดมความเห็น ย้ำจุดยืนบสุขภาพต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง
แม้ระบบประกันสังคมจะเป็นหลักประกันชีวิตของแรงงานไทยหลายสิบล้านคน แต่กลับมีคำถามสำคัญที่สังคมต้องร่วมกันหาคำตอบว่า สิทธิสุขภาพของผู้ประกันตน เท่าเทียมกับระบบอื่นจริงหรือ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “เวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ซึ่งภาคีเครือข่ายจำนวนมากได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อเสนอ และแนวทางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบประกันสังคมไทย

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อเสนอสำคัญจากงานวิจัยของสภาผู้บริโภคเพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมให้มีความเท่าเทียมกับระบบสุขภาพอื่น ๆ โดยเน้นว่าผู้ประกันตนควรได้รับสิทธิประโยชน์ด้านบริการสุขภาพอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคหรือบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่นเดียวกับที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองและข้าราชการได้รับในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้โดยไม่ต้องมีการร่วมจ่ายเพิ่มเติม
สุรีรัตน์ ยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงบริการเชิงป้องกัน เช่น การคัดกรองโรค วัคซีน การดูแลหญิงตั้งครรภ์ และการเข้าถึงยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย ซึ่งผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถรับบริการเหล่านี้ได้ฟรีจากสถานบริการใกล้บ้านหรือร้านขายยาที่ร่วมโครงการ ในขณะที่ผู้ประกันตนที่ต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนกลับไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิที่เสมอภาค และทำให้ระบบสุขภาพของไทยลดความเหลื่อมล้ำลงอย่างเป็นรูปธรรม
โครงสร้างที่ไม่เท่ากัน คือรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำ

ด้าน สมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยาวนานในระบบสิทธิบริการสุขภาพของผู้ประกันตน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ถือบัตรทอง ซึ่งได้รับสิทธิการรักษาฟรีผ่านงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเองแต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่า ทั้งนี้ยังสะท้อนว่าแนวคิดของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบันยังคงคล้ายกับบริษัทประกัน ที่เน้นเรื่องความคุ้มทุนมากกว่าการพัฒนาบริการด้านสุขภาพอย่างจริงจัง
“แนวทางที่ควรทำคือการสลายวิธีคิดแบบธุรกิจประกัน และมุ่งพัฒนาสิทธิด้านสุขภาพของผู้ประกันตนให้เท่าเทียมกับระบบอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษา แต่รวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการ และการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน” สมชายกล่าว
ขณะที่ ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้มานำเสนอภาพรวมของระบบประกันสังคม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยชี้ว่าเงินที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจากมาตรา 33, 39 และ 40 มาจากสามฝ่ายหลัก ได้แก่ ภาครัฐ นายจ้าง และผู้ประกันตน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุน ต้องมีการจัดสรรให้กับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเสียก่อน พร้อมทั้งผลักดันให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ธนพงษ์ ยังเน้นย้ำถึงการปรับโครงสร้างการลงทุนของกองทุนประกันสังคมให้กระจายความเสี่ยงมากขึ้น ลดการผูกโยงกับหน่วยงานรัฐ และมีธรรมาภิบาลในการตัดสินใจลงทุน พร้อมเปิดเผยข้อมูลการลงทุนต่อสาธารณะ อีกทั้งยังมองเห็นความจำเป็นในการปรับปรุงการบริหารจัดการภายในสำนักงาน เช่น การลดความซ้ำซ้อนในโครงสร้างและค่าใช้จ่าย โดยเป้าหมายหลักคือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระในระยะยาว ขณะเดียวกันยังผลักดันให้เกิดความสมดุลในโครงสร้างอนุกรรมการ เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เสนอปฏิรูปประกันสังคม ปรับสิทธิลดความเหลื่อมล้ำ
แก้ปมรพ.เอกชนจ่อถอนตัว สภาผู้บริโภคเสนอประกันสังคม ปรับวิธีจ่ายเงินให้เหมือนบัตรทอง
เสนอยกเลิกสำรองจ่าย สิทธิประกันสังคมต้องเท่าเทียม
เสียงผู้ประกันตนสะท้อนปัญหาบริการ
สำหรับเสียงสะท้อนจากผู้ประกันตนที่เข้าร่วมในเวทีหารือ ชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างของระบบประกันสังคมที่ไม่เพียงแต่สิทธิประโยชน์น้อยกว่าระบบอื่น แต่ยังต้องใช้เงินสมทบจากตัวเองในการดูแลสุขภาพ ขณะที่ระบบอื่นรัฐเป็นผู้รับภาระเต็ม 100% ความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจนเมื่อมองลึกไปถึงการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะผู้ประกันตนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่สามารถเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลลูกข่ายหรือโรงพยาบาลชุมชนได้ ต้องเดินทางไกลนับร้อยกิโลเมตรเพื่อรับบริการจากโรงพยาบาลคู่สัญญาประจำจังหวัด ซึ่งเป็นภาระอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องเดินทางเป็นประจำ อีกทั้ง มีข้อจำกัดเรื่องการย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลที่อนุญาตให้ย้ายได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง ทำให้ผู้ประกันตนที่เผชิญกับโรงพยาบาลที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่มีกลไกกำกับดูแลว่าโรงพยาบาลคู่สัญญาเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
“เบอร์สายด่วน 1506 ลองโทรแล้วจะรู้ว่าช่วยเหลือผู้ประกันตนได้จริงหรือไม่ นอกจากอธิบายเรื่องมาตรา หรือกว่าจะติดต่อได้ สุดท้ายผู้ประกันตนก็วางหูลงในขณะที่เผชิญปัญหากันหน่วยบริการหน้างาน ทำให้ผู้ประกันตนรู้สึกถูกละเลย และถูกมองข้าม” เสียงสะท้อนจากผู้ประกันตน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดฟัน ถูกมองว่าเป็นเรื่องของความสวยงาม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดฟันในบางกรณีเป็นกระบวนการรักษาที่จำเป็น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น ฟันโยก เหงือกอักเสบ หรือการสูญเสียฟันถาวร ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยต้องแบกรับภาระค่ารักษาฟันด้วยตนเอง เพราะวงเงิน 900 บาทต่อปีที่ให้โดยระบบประกันสังคมหรือสิทธิอื่น ๆ นั้นไม่เพียงพอต่อความเป็นจริง
ปัญหาเฉพาะกลุ่มที่ถูกมองข้าม แรงงานนอกระบบและคนพิการ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือปัญหาสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ซึ่งมักตกหล่นจากการดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งจากระบบประกันสังคมและระบบบัตรทอง แม้แรงงานนอกระบบที่ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิในการชดเชยรายได้กรณีเจ็บป่วยจากประกันสังคม และใช้สิทธิรักษาพยาบาลผ่านระบบบัตรทอง แต่กลับยังไม่สามารถเข้าถึงบริการเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น โรคจากสารเคมี ฝุ่น หรืออุบัติเหตุจากงานหนักที่ไม่เป็นทางการได้อย่างแท้จริง
สำหรับประเด็นของกลุ่มคนพิการในระบบประกันสังคมสะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเข้าถึงสิทธิที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แม้คนพิการที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 หรือ 39 จะสามารถโอนสิทธิการรักษาพยาบาลไปยังระบบบัตรทองได้ แต่หลายคนกลับไม่กล้าทำ เนื่องจากขาดข้อมูลที่ชัดเจนและกังวลว่าจะกระทบสิทธิรับเงินจากกองทุนทุพพลภาพ ขณะเดียวกัน สิทธิในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น ทันตกรรม หรือกายอุปกรณ์อย่างรถเข็นไฟฟ้า กลับยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
กรณีของผู้พิการที่ใช้รถเข็นไฟฟ้าแต่ไม่สามารถเบิกค่าอุปกรณ์ได้ แม้อยู่ในระบบประกันสังคมมานานกว่า 10 ปี สะท้อนถึงปัญหาทั้งในแง่ข้อมูล ขั้นตอน และการประเมินจากแพทย์ที่ยังไม่รองรับความต้องการเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง นอกจากนี้การออกแบบระบบบริการสุขภาพแบบเพื่อให้คนพิการแต่ละคนได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ และลดภาระค่ารักษาพยาบาลในระยะยาว
ระบบสุขภาพไทยต้องรวมพลัง ไม่ใช่แยกกลุ่ม

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องระบบสุขภาพในประเทศไทยไม่ได้อยู่แค่เพียงสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน แต่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานของระบบเองที่ถูกออกแบบมาให้แยกกลุ่มประชาชนออกจากกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มบัตรทอง หรือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตราต่าง ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้รับการดูแลและสิทธิไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ต้น ปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นนี้จึงเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ และกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ทั้งที่ควรจะเป็นพันธมิตรร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ ความหลากหลายของกลุ่มต่างมีเป้าหมาย ทิศทาง และข้อเสนอที่แตกต่างกัน จนไม่สามารถรวมพลังให้เกิดแรงขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการหาจุดร่วม ว่าทุกกลุ่มต้องการอะไรที่ตรงกันมากที่สุด จากนั้นจึงค่อย ๆ ถกกันในรายละเอียดเพื่อให้ชัดเจนว่า “จะรวมระบบสุขภาพ” หรือ “จะรวมทั้งกองทุน” หากยังไม่สามารถนิยามเป้าหมายร่วมกันได้ การเคลื่อนไหวก็จะยังคงกระจัดกระจายและไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้เลย

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค เสนอว่า ประชาชนควรมีสิทธิเลือก ไม่ใช่ถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมโดยอัตโนมัติ หากประชาชนสามารถเลือกสิทธิสุขภาพได้เอง จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างระบบต่าง ๆ และกระตุ้นให้ประกันสังคมพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ไม่ใช่ยึดอยู่กับความจำยอมของผู้ประกันตนตามกฎหมาย
“ทุกวันนี้ที่ประกันสังคมทำอะไรก็ได้ เพราะไม่มีการแข่งขัน เห็นผู้ประกันตนเป็นของตาย ยังไงกฎหมายก็ต้องบังคับมาใช้สิทธิประกันสังคม เพราะฉะนั้นไม่ต้องพัฒนาอะไรก็ได้แบบที่เป็นอยู่ ซึ่งมันไม่ควร และต้องสร้างความเป็นธรรมระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว หากเดินเข้าไปในโรงพยาบาล ควรจะถามว่าเป็นอะไร ไม่ใช่ถามว่าใช้สิทธิอะไร” บุญยืนกล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้น มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ มีการเสนอให้สิทธิการรักษาพยาบาลมีความเสมอภาคกับระบบอื่น ๆ และสามารถใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเริ่มส่งเงินสมทบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมีส่วนร่วมโดยการจ่ายเงินสมทบในส่วนของสุขภาพให้กับผู้ประกันตนโดยไม่จำเป็นต้องรอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดภาระและเพิ่มแรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการรวมกองทุนสุขภาพจากหลายระบบ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดมาตรฐานเดียวในการให้บริการ ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ให้มีความอัตโนมัติและรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนอย่างรอบด้าน
