นักวิชาการ ย้ำ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต “ไม่คุ้มค่า” แนะตั้งเงื่อนไข – ปรับแหล่งที่มางบประมาณ ด้านสภาผู้บริโภคและภาคประชาชน กระทุ้งรัฐบาลวางแผนจัดสวัสดิการบำนาญประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมเรียกร้องปรับเพดาน สวัสดิการผู้สูงอายุ – คนพิการอย่างน้อย 1,200 บาทหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ
กรณีที่รัฐบาลพยายามผลักดัน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทและคาดว่าจะสามารถจ่ายได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยในวันที่ 10 เมษายนจะมีการประชุมแนวทางการดำเนินและแหล่งที่มาของงบประมาณ แม้ที่ผ่านมานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาวิจารณ์ถึงการนำเงินงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่คุ้มค่า แต่ควรนำงบมาใช้เพื่อสร้างสวัสดิการรองรับสังคมผู้สูงอายุและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยั่งยืนกว่านั้น
ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านจากนักเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ รวมไปถึงธนาคารโลกที่วิเคราะห์ว่านโยบายการแจกเงินระยะสั้นไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก และไม่มีความคุ้มค่า อีกทั้งนักเศรษฐศาสตร์เคยร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภค ควรเน้นการลงทุนสร้างศักยภาพระยะยาว โดยเงินงบประมาณมีจำกัด ควรใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า เพื่อเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้เงิน 560,000 ล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรายได้ประชาชาติ (GDP) ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของรัฐบาล อีกทั้งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะและทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ทีปกร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยัง “ดื้อ” จะจ่ายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็อยากให้จ่ายแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) เช่น คนที่จะได้เงิน หรือ ร้านค้าที่จะรับเงิน จะต้องเข้ามาอยู่ในระบบฐานข้อมูลและรายงานรายได้ เป็นต้น เพื่อมุ่งเป้าหมายไปที่การเตรียมรับมือกับความท้าทายแห่งยุคสมัยของประเทศและมนุษยชาติ ทั้งสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การแทนที่แรงงานด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เช่น การยกระดับทักษะแรงงานครั้งใหญ่อย่างจริงจังในระดับประเทศ
สำหรับแหล่งที่มาของงบประมาณการแจกเงินดิจิทัล ผศ.ดร.ทีปกร แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการกู้เต็มจำนวน และใช้วิธี 1.ปฏิรูปภาษีให้ลดความเหลื่อมล้ำ และ 2.ปฏิรูปงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ตรงต่อประชาชน และพัฒนาระบบการออมให้กับประชาชน ก็จะสามารถหาเงินมาเติมได้หลายแสนล้านบาทภายในระยะเวลาไม่กี่ปี อีกทั้งจะเป็นคุณูปการระยะยาวสำหรับประเทศ
“อยากให้รัฐบาลวางแผนการใช้งบประมาณเพื่อสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน เพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต เตรียมรับสังคมสูงวัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงวัยของญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต้องลักขโมยของเล็กน้อยให้ตนเองได้ติดคุกที่ทำให้มีที่พักและอาหารประทังชีวิต หรือ ผู้หญิงสูงอายุในเกาหลีใต้ที่ต้องมายืนเร่ขายบริการเพื่อหารายได้ แต่หากมีการสร้างความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่งยั่งยืน” ผศ.ดร.ทีปกรกล่าว
ด้าน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (WE FAIR) กล่าวถึง ความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฉบับประชาชนว่า ผ่านการรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรแล้วและถูกส่งกลับไปให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งเนื่องจากเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวข้องทางการเงิน
ส่วนความคืบหน้า พ.ร.บ.สวัสดิการสังคมของ คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ได้พิจารณา รูปแบบการจ่ายสวัสดิการบำนาญออกมาเป็นลักษณะขั้นบันได ปีแรก 1,200 บาท เพิ่มปีที่สอง 2,000 บาท ปีที่สามจ่าย 3,000 บาท ซึ่งมีความคล้ายกับ พ.ร.บ บำนาญของประชาชน แต่ต่างกันตรงที่ฉบับประชาชนให้จ่าย 3,000 บาท ตั้งแต่ปีแรก
“นอกจาก 2 กฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ ของพรรคก้าวไกล ที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะถูกส่งกลับไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเนื่องจากเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน ทั้งนี้หวังว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้เหมือนกับเรื่องดิจิวอลเลตหมื่นบาท” นิติรัตน์กล่าว
นิติรัตน์ บอกด้วยว่า สิ่งที่อยากเห็นก่อนวันผู้สูงอายุ (วันที่ 13 เมษายน 2567) และก่อนกฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ คือ การปรับเพดานสวัสดิการ ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก และหญิงมีครรภ์ โดยที่ผ่านมาได้เสนอไปยังนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมซึ่งได้รับข้อเสนอของภาคประชาชน ที่เสนอให้ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาท เบี้ยผู้พิการจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท จัดสวัสดิการให้เด็กแบบถ้วนหน้า และจัดสวัสดิการให้หญิงตั้งครรภ์ช่วงเดือน 5 ถึง เดือน ที่ 9 เดือนละ 3,000 บาท โดยขณะนี้รอรัฐมนตรีเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ในโอกาสเดียวกัน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของนักการเมืองจึงอยากเห็นรัฐบาลสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และทุกรัฐบาลควรกระชับการใช้งบประมาณและทำให้เกิดระบบสวัสดิการประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนกฎหมายบำนาญแห่งชาติเพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าหากผู้สูงอายุยังคงได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 -700 บาทก็จะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนดำเนินนโยบายเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ดิจิทัลวอลเล็ต
#รัฐสวัสดิการ #สูงวัยไร้บำนาญ #บำนาญถ้วนหน้า #บำนาญแห่งชาติ #เบี้ยยังชีพ