สภาผู้บริโภค จับมือภาคประชาชน ร้อง “ชัชชาติ” ปฏิรูปผังเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน ขณะที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำต้องใช้ดุลพินิจอย่างละเอียด ตอบโจทย์แก้ปัญหา ด้านตัวแทนชุมชน ประดิพัทธ์ 23 ลั่นฟ้องร้องแน่ หากยังเดินหน้า สร้างอาคารใหญ่ไม่เป็นไปตามกฎหมายต่อ
วันนี้ (9 ตุลาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมทีมเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค และตัวแทนชุมชนที่ร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ในซอยแคบ 3 แห่ง เข้าพบและประชุมร่วมกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมอาคาร ผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตพญาไท ผู้อำนวยการสำนักเขตเขตจตุจักร ผู้บริหารรับผิดชอบผังเมือง ให้ระงับการก่อสร้างโครงการไว้ก่อน พร้อมกับร่วมกันหาทางออกตามข้อเสนอที่ยื่นถึงผู้ว่าฯ กทม. ไปก่อนหน้านี้
สภาผู้บริโภค และผู้แทนชุมชน ย้ำกับผู้ว่าฯ กทม.ถึงปัญหาสำคัญของทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเอสประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ซอย 23) โครงการเอส รัชดา (รัชดา ซอย44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) อยู่ที่ความกว้างของทางสาธารณะ อาจไม่เป็นไปตามที่ต้องมีระยะความกว้าง 6 เมตร ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ ของประชาชน โดยเฉพาะกรณีหากเกิดเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารหรือ ชุมชน จะเกิดความเสียหาย จากการที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปดับได้เพราะทางแคบ และความหนาแน่นของการอยู่อาศัย อีกทั้งไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำรอยจากปัญหาซอยแคบที่ได้สร้างบทเรียน ความเสียหายทั้งทางธุรกิจและผู้บริโภคมาแล้วจากโรงแรมเอทัช ในซอยร่วมฤดีและคอนโดมีเนียมแอชตัน อโศก
ชัชชาติ รับที่จะติดตามเรื่องต่อเพื่อให้โครงการก่อสร้างปฏิบัติตามการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะให้คณะกรรมการปรับปรุงแนวทางการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยนำคำพิพากษาศาลปกครองมาใช้ในการพิจารณา การอนุญาตก่อสร้างของทั้ง 3 โครงการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นและจะกำกับดูแลขั้นตอนการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหากระทบประชาชนผู้บริโภคด้วย อีกทั้งยินดีที่จะรับฟังและให้ความสำคัญความคิดเห็นจากภาคในการจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่4) ที่อยู่ระหว่างจัดทำด้วย โดยจะให้สำนักการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองหารือนอกรอบกับภาคประชาชนและภาคประชาสังคม
โดยสารี เปิดเผยภายหลังการพบกันว่า วันนี้เหมือนเป็นการมาติดตามเรื่องที่ร้องเรียน ซึ่งเบื้องต้น ผู้ว่าฯ กทม.ได้ขอให้ สำนักงานเขตพญาไท ส่งเอกสารรายละเอียดความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้กับผู้เสียหายในโครงการก่อสร้าง เอส ประดิพัทธ์ 23 เพื่อดูรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง
ทั้งนี้ สารี กล่าวว่า ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนได้เข้าไปวัดความกว้างถนนที่เข้าอาคารพบว่าตามโฉนดที่ดินมาความกว้างเกิน 6 เมตรจริง แต่พื้นที่ใช้สอยได้จริงไม่ถึง 6 เมตร เพราะมีสิ่งกีดขวาง เช่น เสาไฟ ตู้โทรศัพท์ อีกทั้งพื้นที่จอดรถที่ไม่เพียงพอทำให้รถของลูกบ้านต้องออกมาจอดบริเวณข้างทางเข้าอาคาร เนื่องจากการปลูกสร้างยึดตามกฎหมายการปลูกสร้างอาคารที่กำหนดที่จอดรถเพียง 30% โดยประมาณ ส่งผลให้ถนนที่คับแคบอยู่แล้ว ยิ่งมีพื้นที่ใช้สอยได้จริงน้อยกว่าเดิมมาก ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเพลิงไหม้ รถดับเพลิงและรถกู้ภัยจะไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทันเวลา ซึ่ง กทม. ต้องทบทวนเรื่องความปลอดภัยนี้และข้อกำหนดตาม EIA สำหรับ 2 โครงการที่กำลังพิจารณาคือ โครงการเอส รัชดา และโครงการเดอะมูฟ และอีกหนึ่งโครงการที่พิจารณาผ่านไปแล้วคือ โครงการเอสประดิพัทธ์ และจะเป็นบรรทัดฐานในการอนุมัติการก่อสร้างโครงการใหญ่ หรือคอนโดอื่นๆ ในอนาคตเพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้
ขณะที่ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคารมีท่าทียอมรับในการร่วมตรวจสอบรังวัด ระยะความกว้างถนนพบมีระยะไม่ถึง 6 เมตรตลอดซอยตามกฎหมายกำหนด จึงอาจมีการทบทวนใหม่ และสิ่งสำคัญกรุงเทพมหานคร เห็นด้วย ตามข้อร้องเรียน เรื่องการ EIA ที่ไม่ควรให้บริษัทเอกชนเป็นผู้สนับสนุนการจัดทำ รวมถึง การตีความความกว้างของเขตทาง ตามนิยาม
คำว่า ถนนสาธารณะและเขตทาง ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ที่ไม่นับรวมสิ่งกีดขวาง ขณะที่ตามสถานการณ์ความเป็นจริง ความกว้างของถนนในซอย ไม่ควรนับเสาไฟฟ้า ชุมสายโทรศัพท์ และทางเท้า ควรวัดตามที่รถยนต์สามารถสัญจรได้จริง ซึ่งทางสำนักควบคุมอาคาร อาจจะนำเรื่องนี้ไปทบทวน พร้อมจะนำไปหารือกับที่ปรึกษากฎหมาย และนำข้อมูลคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ขาดโครงการก่อนหน้านี้ ไปพิจารณาด้วย
เช่นเดียวกับ ทางสภาผู้บริโภคเองก็จะเข้าพบผู้บริหารโครงการก่อสร้าง เอส ประดิพัทธ์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เพื่อหาทางแก้ไข แต่หากไร้การแก้ไขและการก่อสร้างยังเดินหน้าต่อไป ผู้นำชุมชนก็จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีแน่นอน และหวังว่า ข้อมูลที่นำมาพูดคุยวันนี้จะทำให้เปลี่ยนใจและร่วมมือในการปรับปรุงการอนุญาตให้เป็นไปตามที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังตอบรับเรื่องการขอให้มีการทบทวนและขอให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มากขึ้น ซึ่งเป็น 1 ในเรื่องที่สภาผู้บริโภคเรียกร้องด้วย โดย สารีระบุว่า ทางสภาผู้บริโภค จะประชุมกับทีมที่ปรึกษาในการศึกษาเรื่องผังเมือง เพื่อเสนอแนวคิด โดยหวังว่าจะนำไปสู่การทบทวนและร่วมให้ข้อมูล ร่วมมือกันในการปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ประชาชนแต่ละเขตจะสะท้อนแนวคิดและความต้องการคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างไร
เช่นเดียวกัน ผู้นำชุมชนประดิพัทธ์ 23 ที่ยังยืนยันต้องการ ขอให้กรุงเทพมหานคร ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อจัดทำ EIAใหม่ ให้ประชาชาชนมีส่วนร่วมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิต กรณีเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้น วันนี้จึงได้ยื่นหนังสือขอให้มีการเพิกถอน EIA ที่เห็นชอบให้กับโครงการดังกล่าว ต่อผู้ว่าฯ กทม.เพิ่มเติม และหวังว่าจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ขณะที่นายวีระพันธ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในช่วงที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ยังแก้ไขอยู่ จะเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ผังเมืองทำให้ชีวิตของชาวกรุงคุณภาพ ที่ดีขึ้น ลดความแออัด และลดการจราจร และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม 2.5 ซึ่งต้นตอล้วนมาจากผังเมือง พร้อมมองว่า กระบวนการการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนควรครบถ้วนถูกต้องไม่ไช่เพียงประชุมประชาชนเท่านั้น ควรรับเสียงชาวชุมชนด้วย
พร้อมกับขอย้ำว่า ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาเมือง แต่ต้องการให้ผังเมืองรวมเป็นไปโดยสอดคล้องกับการขยาย หรือปรับปรุง ระบบต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการจราจรภายในซอย และถนน รวมถึง ระบบสาธารณูปการและสาธารณูปโภคที่ยังอาจไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการจราจร และน้ำท่วมขยายวงไปด้วย
ด้านผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า การพูดคุยกับสภาผู้บริโภค และผู้แทนชุมชน เป็นเรื่องที่ดี ได้รับฟังปัญหา เพราะเรื่องผังเมือง มีปัญหาต่อเนื่องมาจากการตีความ และบังคับใช้ โดยโครงการก่อสร้างอาคารสูง 2-3 โครงการที่ร้องเรียนมาก็จะนำข้อคิดเห็นไปพิจารณา ทั้งความกว้างของถนน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต้องรับฟังทั้งความเห็นฝ่ายผู้ขออนุญาตและผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ความชัดเจนและการตีความกฎหมาย การประเมินผลกระทบของคน ถือเป็นเรื่องความเห็นไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ดังนั้นการใช้ดุลพินิจต้องทำอย่างละเอียด ต้องดูข้อมูลครบทุกด้าน เพื่อให้ตอบความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น
ข่าวโดย : ฝ่ายนโยบายสภาผู้บริโภค