ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งรัฐจัดระบบความปลอดภัย แก้ปัญหารถรับส่งนักเรียน ไม่มีใบอนุญาตมากกว่า 45,000 คัน

สภาผู้บริโภคเข้าให้ข้อมูลผู้ตรวจการแผ่นดิน และยื่นข้อเสนอการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เร่งมหาดไทย ศึกษาธิการ และคมนาคม บูรณาการแผนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย สร้างมาตรฐานระบบการเดินทางที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน ชี้ปัจจุบันมีรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 45,000 คันวิ่งรับส่งบุตรหลานของประชาชนโดยไม่มีใบอนุญาตอยู่ทั่วประเทศ

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ตัวแทนเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคได้เข้าร่วมประชุมกับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเรื่อง “มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน” โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคพบว่า ในปี 2565 มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยกับรถรับส่งนักเรียนมากถึง 30 ครั้ง บาดเจ็บ 274 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย หรือมีความรุนแรงมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 4 เท่า โดยรถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ประเภท รถตู้โดยสาร รถกระบะดัดแปลง และรถโดยสารขนาดใหญ่ประเภท 4 ล้อ และ 6 ล้อที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและที่สำคัญรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากยังเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียนประจำจังหวัด

นอกจากนี้จากข้อมูลจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบก วันที่ 5 กันยายน 2565 พบว่า มีรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับใบอนุญาตประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 4,497 คัน  ขณะที่ประมาณการว่าจะมีรถรับส่งนักเรียนบนท้องถนนมากกว่า 50,000 คันทั่วประเทศ หรือประมาณการได้ว่ามีรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 45,000 คัน ที่รับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือเท่ากับมีนักเรียนกว่า 540,000 คน (เปรียบเทียบรถรับส่งนักเรียน 1 คัน บรรทุกนักเรียน 12 คน ตามกฎหมายกำหนด) ที่มีความเสี่ยงในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่มีมาตรการจัดการความปลอดภัย

“การไม่นำรถที่ใช้รับส่งนักเรียนขื้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตนั้น นอกจากจะทำให้กรมการขนส่งทางบกไม่มีข้อมูลจำนวนรถรับส่งนักเรียนที่แท้จริงแล้ว ยังส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในแต่ละภาคการศึกษา รวมถึงเป็นปัจจัยหนุนเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ใช้รถผิดประเภท หลีกเลี่ยงจัดทำประกันภัย ประมาทเลินเล่อ ลืมเด็กไว้ในรถ ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถเพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น” คงศักดิ์ระบุ

นอกจากปัญหาทางกายภาพของผู้ขับรถรับส่งนักเรียนและสภาพรถที่ไม่มั่นคงแข็งแรงปลอดภัยแล้ว จากข้อมูลการเฝ้าระวังฯ ยังพบปัญหาการบริหารจัดการของโรงเรียนและหน่วยงานที่ไม่มีมาตรฐานและขาดประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลของโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการขอใบรับรองจากโรงเรียน ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการขอใบอนุญาตใช้รถรับส่งนักเรียนจากนายทะเบียน เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะสภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ในฐานะภาคีเครือข่ายการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จึงมีข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพื่อบูรณาการความร่วมมือและยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้

 ข้อเสนอต่อศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย

1. ขอให้มีคณะทำงานร่วมภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการ ศปถ. โดยมีองค์ประกอบของสภาผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางจัดทำแผนความปลอดภัยและการแก้ไขกฎระเบียบการพัฒนาระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

2. ขอให้มีคำสั่งการถึง ศปถ. จังหวัดทุกจังหวัด กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด โดยกำหนดให้มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมที่ประกอบด้วย สภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานท้องถิ่น และเครือข่ายนักวิชาการ เพื่อบูรณาการจัดทำแผนความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด

3. ขอให้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณด้านการเดินทางและบริหารจัดการระบบความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนในสังกัด เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการเดินทางระหว่างที่พักและโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของนักเรียนทุกคน

ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ

1. ขอให้ทบทวนและแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย บรรจุแผนงานจัดการรถรับส่งนักเรียนเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโรงเรียนหรือสถานศึกษา มีการประเมินและติดตามผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้านนโยบาย เพิ่มมาตรการกำกับกรณีโรงเรียนหรือสถานศึกษาละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ อันนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน

2. พัฒนาหลักสูตร ชุดความรู้ แนวทางการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยนำนโยบายระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน 9 ด้านจากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร่วมเป็นองค์ประกอบและแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษารวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีองค์ความรู้ หลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียน  

3. ขอให้เแก้ไขนิยาม “การศึกษา” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้รวมถึง “การจัดบริการที่จำเป็นเพื่อให้นักเรียนสามารถเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนยังโรงเรียนหรือเข้าถึงการศึกษาได้อย่างสะดวกปลอดภัย” เพราะการเดินทางที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา และเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อการได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่ทั่วถึงเท่าเทียม

4. จัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นค่าเดินทาง (รถรับส่งนักเรียน) ให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียน ทุกคนให้มีมาตรฐานและคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

5. สภาผู้บริโภคพร้อมเป็นคนกลางร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมการขนส่งทางบก กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนหลักเกณฑ์การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย การบริหารจัดการด้วยรูปแบบและวิธีการออกใบรับรองการรับส่งนักเรียนของโรงเรียน และการจัดเก็บข้อมูลให้เกิดขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก)

1. ขอให้กำหนดมาตรการหรือแนวทางสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ขับรถรับส่งนักเรียนนำรถเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลผ่านการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตการใช้รถรับส่งนักเรียน เช่น การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับปรุงสภาพรถ สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจัดทำประกันภาคสมัครใจแบบคนละครึ่ง เป็นต้น เพื่อเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยให้กับรถรับส่งนักเรียนอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ขอให้กำหนดรูปแบบใบอนุญาตขับรถยนต์ประเภทรถรับส่งนักเรียนเป็นแบบมาตรฐานเฉพาะที่แตกต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคลและหรือรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ และความปลอดภัยสูงกว่าปกติ ในการบรรทุกผู้โดยสารที่เป็นเด็กนักเรียน

3. ขอให้พัฒนารูปแบบ วิธีการจัดเก็บข้อมูล และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานขนส่งจังหวัดให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อการส่งต่อและประมวลผลข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและเหมาะสมทันต่อการใช้งาน

4. จัดให้มีรถรับส่งนักเรียนที่มีโครงสร้างมาตรฐานและอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ติดตั้งกล้องหน้ารถและระบบควบคุมความเร็ว (GPS) หรือระบบเทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับการสนับสนุนแนวทางและงบประมาณจากรัฐหรือภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันความผิดพลาดจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากเหตุไม่คาดคิด

5. กรณีเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนทุกกรณีต้องมีการสอบสวนเชิงลึกเพื่อหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนของกรมการขนส่งทางบก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุบัติเหตุเพื่อหาข้อสรุปและวางแนวทางป้องกันไม่ใช้เกิดซ้ำอย่างเป็นระบบ

6. สภาผู้บริโภคพร้อมเป็นคนกลางร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมการขนส่งทางบก กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ และสนับสนุนหลักเกณฑ์การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยทั้งระบบในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการเดินทางที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค