กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน มอเตอร์ไซค์รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS หรือ CBS มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ขอให้เร่งบังคับและมีมาตรการสนับสนุนการติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) สำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันที่เข้าสู่ตลาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 กรมการขนส่งทางบกได้จัดรับฟังความเห็นร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน
โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลื่อนระยะเวลาการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) หรือ ระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) ในรถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากเดิมที่ต้องบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ออกไปเป็น 1 มกราคม 2569 ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต สิทธิ และความปลอดภัยของผู้บริโภค นั้น (อ่านข่าวได้ที่ : สภาผู้บริโภคค้านกรมขนส่งฯ เลื่อนติดเบรก CBS ในมอเตอร์ไซค์รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ยันกระทบความปลอดภัยผู้บริโภค)
ล่าสุด คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภค ลงวันที่ 27 กันยายน 2567 สรุปใจความสำคัญได้ว่า จากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน รวมทั้งได้เปิดรับฟังความเห็นขอประชาชนทั่วไป ขบ. เห็นควรบังคับใช้ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 นั่นหมายความว่า รถจักรยานยนต์รุ่นที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ต้องติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2564 และจะมีผลบังคับใช้เริ่ม 1 มกราคม 2567 ซึ่งผู้ประกอบการมีเวลาพอสมควรในการปรับตัวเพื่อให้สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นไปตามประกาศฯ อีกทั้งการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวของ ขบ. จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีระบบเบรก ABS หรือ CBS ที่ปลอดภัย และหลังจากนี้ สภาผู้บริโภคจะลงพื้นที่สำรวจรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ เพื่อติดตามตรวจสอบว่าเป็นไปตามประกาศของ ขบ. หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นการบังคับใช้ประกาศระบบเบรก ABS หรือ CBS แล้ว ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอถึงภาครัฐและผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ในเรื่องการติดระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น รวมถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเรื่องการเบรก
รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมด้านราคา และการดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตที่ผลิตหมวกกันน็อกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกทุกคันในราคาที่เข้าถึงได้ รวมทั้งเข้าถึงหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน และนำหมวกกันน็อกที่ไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (ม.อ.ก) ควบคู่คิวอาร์โค้ด และตกมาตรฐานการทดสอบออกจากท้องตลาด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ นอกจากการมียานพาหนะและอุปกรณ์ที่ปลอดภัยแล้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำเป็นต้องมีทักษะในการใช้ระบบเบรกที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนุนบังคับติด ABS จยย. ทุกรุ่น หวังลดอุบัติเหตุ จยย. ลง 30%
รวมพลังผลักดัน ติดเบรก ABS ทุกคัน หมวกนิรภัยทุกใบ ต้องผ่านมาตรฐาน
เผยผลทดสอบหมวกกันน็อกตกมาตรฐาน 11 จาก 25 ตัวอย่าง
สำหรับรายละเอียดในจดหมายที่ ขบ. ตอบกลับเพื่อชี้แจ้งกับสภาผู้บริโภค มีดังนี้
1. กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ ลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดรายละเอียดทางเทคนิค คุณสมบัติ คณลักษณะ การทดสอบ เกณฑ์สมรรถนะของระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์
เช่น ระบบห้ามล้อทั่วไป ระบบป้องกันล้อล็อก (Antilock Braking System, ABS) และระบบห้ามล้อร่วม (Combined Brake System, CBS) โดยรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเกินกว่า 125 ซีชี ต้องติดตั้งระบบ ABS และรถจักรยานยนต์ที่มีความจกระบอกสูบไม่เกิน 125 ชีซี สามารถติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ระบบหนึ่งหรือทั้งสองระบบก็ได้ โดยประกาศดังกล่าวใช้บังคับภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1.1 แบบที่ผลิต ประกอบหรือนำเข้า แบบระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2565 ให้ไช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป เว้นแต่การติดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
1.2 แบบที่ผลิต ประกอบหรือนำเข้า แบบระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เว้นแต่การติดตั้ดตั้งระบบ ABS หรือ CBS ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569
2. หลังจากนั้นสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้ขอความอนุเคราะห์ให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้การติดตั้งระบบ ABS และ CBS สำหรับกลุ่มรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดาที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 125 ซีซี ซึ่งได้รับการรับรองแบบจากกรมการขนส่งทางบกแล้วระหว่างปี 2565 – 2566 จากเดิมปี 2567 เป็นปี 2569 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบชิ้นส่วน และส่วนประกอบยานยนต์
ส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบ ABS และ CBS เพิ่มเติมได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนวันบังคับใช้ อาจส่งผลต่อการชะลอหรือการยกเลิกการผลิตของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนรถจักรยานยนต์ในท้องตลาดการจ้างงาน และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
3. เพื่อให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบและครบถ้วนตามขั้นตอน กรมการขนส่งทางบกได้จัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน รวมทั้งได้ยกร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย
โดยเมื่อนำความเห็นจากการรับฟังมาทบทวนแล้ว เห็นว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน จึงเห็นควรบังคับใช้ตามหลักการเดิมของประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ ฑ์ วิธีการ และเงื่อบไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจับรถรยานยนต์ พ.ศ. 2564