จากการที่สภาผู้บริโภคได้ติดตามปัญหาค่าไฟฟ้าแพงและมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในข้อเสนอคือให้รัฐส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของครัวเรือนด้วยการสนับสนุนให้ผู้บริโภคติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน และส่งเสริมให้มีการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือเน็ตมิเตอร์ริง(net metering) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ที่ประชุม ครม. รักษาการ ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเกี่ยวกับเน็ตมิเตอร์ริงที่ได้ระบุว่าประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบเน็ตมิเตอร์ริงได้เพราะติดขัด 3 ประการคือ ด้านระเบียบและข้อกฎหมายในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้านเทคนิคที่ส่งผลต่อแรงดันไฟฟ้าในระบบ และ ด้านผลกระทบต่อต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) นั้น
วันนี้ (8 กันยายน 2566) ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ข้อติดขัดทั้ง 3 ข้อที่รายงานการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเกี่ยวกับเน็ตมิเตอร์ริงนั้น สามารถบริหารจัดการได้โดยง่าย เพียงมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขแต่ประการใด ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ควรทบทวนมติ ครม. รักษาการดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมถึงแนวทางในการลดอุปสรรคตามข้อติดขัดต่าง ๆ เพื่อให้การศึกษามีความครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น และควรมีมติให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการประชุมเพื่อกำหนดความชัดเจนในการปฏิบัติตามมติ ครม. โดยด่วน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถนำมติของ กพช. ไปประกาศเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ทำให้การหักหน่วยไฟฟ้าเป็นจริงได้
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค มีความเห็นเพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ข้อติดขัดทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
ด้านระเบียบและข้อกฎหมายในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและประชาชนนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าและนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาหักลบหน่วยไฟฟ้ากับไฟฟ้าของการไฟฟ้านั้นไม่ถือเป็นผู้ประกอบการเนื่องจากวัตถุประสงค์ของการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ของครัวเรือนนั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้ามิใช่เพื่อขายไฟฟ้าจึงไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษี แม้ในกรณีที่ตีความว่าเป็นผู้ประกอบการก็มั่นใจได้ว่ารายได้จากกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่อาจเกิดขึ้นจะไม่สูงไปกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องจดทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นอกจากนี้การคำนวณค่าไฟฟ้าแบบแยกมิเตอร์ซื้อกับมิเตอร์ขายหรือเน็ตบิลลิง (net billing) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้คำนึง VAT แต่ประการใด ดังนั้นการคิด VAT จากการใช้ระบบเน็ตมิเตอร์ริงจึงไม่มีความจำเป็นและไม่สมควรกระทำ
ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลต่อแรงดันไฟฟ้าในระบบเนื่องจากไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ปัจจุบันสายส่งของการไฟฟ้ามีศักยภาพเพียงพอและมีปริมาณไฟฟ้าที่กันไว้สำหรับรองรับไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของครัวเรือน ทั้งนี้ การไฟฟ้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับรู้กำลังการผลิตที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดผ่านการจดแจ้งเพื่อขอขนานไฟฟ้าหรือการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐจึงสามารถจำกัดการเข้าถึงสายส่งเพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงดันไฟฟ้าได้โดยง่าย ทั้งยังสามารถนำไปพยากรณ์กำลังการผลิตที่จะเกิดขึ้นเพื่อวางแผนความต้องการไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาได้ สำหรับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น การไฟฟ้ามีแผนจะเปลี่ยนมิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นแบบดิจิทัลอยู่แล้ว อีกทั้งการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบเน็ตบิลลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ต้องใช้มิเตอร์ดิจิทัล ดังนั้นการเปลี่ยนมิเตอร์จึงไม่ใช่ข้อจำกัดของการเปลี่ยนไปใช้ระบบเน็ตมิเตอร์ริง
และด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวมที่ว่าจะส่งผลต่อต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าและค่า Ft โดยเฉพาะกับผู้ไม่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟทอปได้ แม้จะไม่มีนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง การคิดค่าไฟฟ้าแบบเน็ตบิลลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและค่า Ft เช่นกัน ในทางกลับกันการนำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จากครัวเรือนมาใช้จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าเมื่อหักลบกันแล้วการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่า Ft น้อยลง
ทางด้าน จริยา เสนพงศ์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการใช้พลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องเร่งประกาศใช้มาตรการค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยหรือเน็ตมิเตอร์ริงกับภาคครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านของตัวเองและนำศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ในประเทศมาใช้เป็นลำดับแรกเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเร่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero Emission) ทั้งนี้ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากโซลาร์รูฟท็อปราว 3,000 เมกะวัตต์จะก่อให้เกิดการจ้างงานในช่วงระยะเวลา 3 ปีมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้แรงงานราว 3,200 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในวันที่ 22 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 08.30 – 15.30 น. จะมีงานเสวนาวิชาการเรื่อง “Net metering for all : An enabling pathway towards just energy transition” ซึ่งร่วมจัดโดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาบริโภค ร่วมกับ The Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการเสวนาเสนอให้แก่รัฐบาลใหม่เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลโดยเร็ว
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค