เผยผลทดสอบหมวกกันน็อกตกมาตรฐาน 11 จาก 25 ตัวอย่าง

สภาผู้บริโภค จับมือเอ็มเทค ทดสอบหมวกกันน็อก พบไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง หมวกกันน็อกเด็กตกมาตรฐานทั้งหมด เสนอ สมอ. นำออกจากตลาด

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดงานแถลงข่าว “เปิดผลทดสอบหมวกกันน็อก ยี่ห้อไหนได้มาตรฐาน?” โดยผลจากการทดสอบพบว่า มีหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานจำนวน 14 ตัวอย่าง  เป็นแบบครึ่งใบ ได้แก่ ยี่ห้อ SPACE CROWN รุ่น TROOPER, ยี่ห้อ SPACE CROWN รุ่น CT-900 และยี่ห้อ INDEX รุ่น LADY แบบเต็มใบปิดหน้า ได้แก่ ยี่ห้อSHOEI รุ่น Z-7+, ยี่ห้อ AGV รุ่น K1, ยี่ห้อ INDEX รุ่น SPARTAN, ยี่ห้อ HJC รุ่น I-10, ยี่ห้อ REAL รุ่น Falcon, ยี่ห้อ REAL รุ่น VENGER-Plus, ยี่ห้อ INDEX รุ่น PROTO XP-22, ยี่ห้อ SHOEI รุ่น NEOTEC2 และยี่ห้อ BILMOLA รุ่น EXPLORER แบบเต็มใบเปิดหน้า ได้แก่ ยี่ห้อ AGV รุ่น ORBYT และ ยี่ห้อ REAL รุ่น Vintage I Solid

และหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง เป็นหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ SPACE CROWN รุ่น LEO-2, ยี่ห้อ H2C รุ่น CHILD HELMET, ยี่ห้อ GUARDNER รุ่น THUNDER KID, ยี่ห้อ INDEX รุ่น Titan Kid และยี่ห้อ INDEX รุ่น OKIE แบบครึ่งใบ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ H2C รุ่น SUNNY, ยี่ห้อ AHI รุ่น Lady และ ยี่ห้อ V-TECH รุ่น WISH แบบเต็มใบเปิดหน้า 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ INDEX รุ่น CR-300และยี่ห้อ H2C รุ่น OPEN FACE HELMET และแบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ไม่ผ่านมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ SPACE CROWN รุ่น Stealth (อ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่นี่ : https://bit.ly/42fWgyk)

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการแสดงสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยไม่มีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ควบคู่ด้วย สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข 4 ข้อถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การนำหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐานออกจากท้องตลาด การพัฒนาหลักสูตรการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่ การให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหมวกนิรภัย และเสนอให้ผู้ผลิตระบุขนาดศีรษะที่เหมาะสมสำหรับหมวกนิรภัยแต่ละใบ ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ พร้อมทั้งการเร่งตรวจสอบผลิตภัณฑ์เป็นระยะ

ทั้งนี้ ข้อมูลผลทดสอบหมวกกันน็อกดังกล่าว เป็นข้อมูลจากโครงการภายใต้ความร่วมมือของสภาผู้บริโภค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง นักวิชาการจากทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบุว่า จากการสุ่มซื้อหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หรือหมวกกันน็อกในท้องตลาด ทั้งจากห้างสรรพสินค้า ร้านตัวแทนจำหน่ายหมวกนิรภัย และร้านค้าบนตลาดออนไลน์ (E-Commerce) เช่น Shopee Lazada และนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. พบว่ามีหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง จากการหมวกกันน็อกที่ทดสอบทั้งหมด 25 ตัวอย่าง

เศรษฐลัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลจากการทดสอบในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าหมวกกันน็อกรุ่นไหนผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถเทียบราคากับคุณภาพได้ โดยดูจากคะแนน ซึ่งคะแนนเต็ม 5 หมายถึง ดีที่สุด และน้อยลงไปตามลำดับ จนถึงคะแนน 0 ซึ่งหมายถึง แย่ที่สุด ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนหมวกกันน็อกดังกล่าว คำนวณมาจากการทดสอบและประเมินเรื่องความปลอดภัยที่แบ่งได้เป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ความสามารถในการปกป้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (Passive Safety) ความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ (Active Safety) และความพึงพอใจในการสวมใส่และใช้งาน (Comfort and Fitting) โดยอ้างอิงจากวิธีการทดสอบของ สมอ.

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ หมวกกันน็อกทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีเครื่องหมาย มอก. แต่ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบหมวกกันน็อกบางตัวอย่างกลับไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ สมอ. กำหนด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการแสดงสัญลักษณ์ มอก. โดยไม่มีคิวอาร์โค้ดควบคู่ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายและมีหมวกกันน็อก 1 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ด แต่เมื่อสแกนแล้วกลับเชื่อมต่อไปยังไลน์ของบริษัทแทนที่จะเป็นฐานข้อมูลรายละเอียดของสินค้าและผู้ผลิตตามที่ สมอ. กำหนด

สำหรับข้อแนะนำในการเลือกซื้อและใช้งานหมวกกันน็อก เศรษฐลัทธ์ ระบุว่า หากกล่าวโดยอิงจากผลการทดสอบเชิงคุณภาพ การสวมหมวกกันน็อกแบบเต็มใบปิดหน้าจะสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับศีรษะได้ดีกว่าแบบครึ่งใบ อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอื่น ๆ  เช่น การระบายความร้อน ความสะดวกในการใช้งานและการหายใจ รวมถึงด้านราคา จึงเป็นสาเหตุของการออกแบบเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับหมวกกันน็อกเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกหมวกแบบต่าง ๆ ตามความต้องการ ทั้งนี้ ไม่ควรเลือกซื้อหรือใช้งานหมวกกันน็อกที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เพราะตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตและจากรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย หมวกกันน็อกแต่ละใบมีอายุการใช้งานสูงสุดไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเสนอให้ สมอ. บังคับใช้กฎหมายและนำหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 11 ตัวอย่างออกจากท้องตลาดโดยเร็ว รวมถึงเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ มองว่าผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อหมวกนิรภัยมาสวมใส่ ซึ่งการทดสอบในกรณีนี้เป็นหนึ่งในบทบาทของสภาผู้บริโภค ที่สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อของผู้ประกอบการเพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคจากผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ถูกเปิดเผยจะมีการปรับปรุง ปรับแก้ไขสินค้าของตัวเองให้ดีขึ้น มีมาตรฐานขึ้นได้ และหากผู้ประกอบการรายได้ทำดีอยู่แล้ว ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะส่งเสริมและชื่นชม

สภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปผลักดันเป็นมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 4 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้ สมอ. บังคับใช้กฎหมาย นำหมวกนิรภัยที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานออกจากตลาดโดยเร็ว และมีมาตรการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดต่อกฎหมาย

2. ขอให้กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่ที่มีคุณภาพ และผลักดันความรู้วิธีการในการเลือกหมวกนิรภัยและการสวมใส่ให้ถูกวิธีในหลักสูตรการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่

3. ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จัดสถานที่และบริการฝึกปฏิบัติทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับหมวกนิรภัย เช่น การวัดขนาด การเลือก และการสวมใส่ที่เหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่

และ 4. ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตระบุขนาดศีรษะที่เหมาะสมสำหรับหมวกนิรภัยแต่ละใบ ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยรับหลักการข้อตกลงข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 74/299 ‘ประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัย ทางถนน ในปี ค.ศ. 2021 – 2030’ (Decade of Action for Road Safety 2021 – 2030) และได้ประกาศออกมาแล้วว่า จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศจะต้องลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2570 เหลือเพียงประมาณ 8,000 ราย จากสถิติอุบัติเหตุของปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 16,000 – 17,000 ราย

อย่างไรก็ตามร้อยละ 80 ของยอดผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยรถจักรยานยนต์ จากการเก็บข้อมูลของนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการไม่สวมใส่หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก โดยคนไทยที่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 40 – 50 เท่านั้น

“ที่น่าตกใจ คือ ผลการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มีความแตกต่างกัน โดยคนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกเสียชีวิตมากกว่าคนที่สวมหมวกถึงร้อยละ 40 แปลว่าถ้าบังคับให้คนสวมหมวกกันน็อกมากขึ้นเท่าไร ยอดการเสียชีวิตโดยรวมของไทยน่าจะลดลงได้อย่างรวดเร็ว” นายแพทย์อนุชา กล่าว

นายแพทย์อนุชา กล่าวอีกว่า การบังคับให้ทุกคนสวมหมวกนิรภัย เป็นกุญแจสำคัญที่จะลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตบนท้องถนนได้ แต่การพิสูจน์ให้ได้ว่าทุกคนจะได้สวมหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และสามารถสวมใส่ได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเร่งด่วนมากในขณะนี้

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงระบบการสุ่มตรวจของ สมอ. ว่า การเข้าไปสุ่มตรวจการผลิตหลังจากวางจำหน่ายหมวกนิรภัยแล้ว (Post – Marketing) ในแต่ละโรงงานของ สมอ. น่าจะเป็นไปตามหลักวิชาการอยู่แล้ว แต่ สมอ. ควรทบทวนและพิจารณาการสุ่มตรวจหลังจากออกจากโรงงานและนำไปจำหน่ายตามท้องตลาดหรือการวางขายในออนไลน์อีกชั้นหนึ่งควบคู่กับการตรวจโดยปกติ เพื่อความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

“การสุ่มตรวจที่โรงงานเพียงอย่างเดียวอาจเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตทราบล่วงหน้าว่าจะถูกสุ่มตรวจจึงอาจมีการคัดเลือกหมวกนิรภัยที่มั่นใจว่าจะผ่านเกณฑ์มาวางไว้ในโรงงานเพื่อให้หน่วยงานสุ่มตรวจ ยกตัวอย่างเช่น ในการตรวจสภาพรถ ปกติจะมีการตรวจสภาพรถตามที่ต้องตรวจตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่หน่วยงานก็จะมีการสุ่มตรวจตามท้องถนนเพิ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย” นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของ สมอ. จึงทำให้การสุ่มตรวจถูกจำกัดอยู่เพียงในส่วนของโรงงานเท่านั้นและยังถูกจำกัดเพียงการสุ่มตรวจหมวกนิรภัยได้บางประเภทเท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐควรกลับมามองเชิงระบบและควรมีการวางกรอบงบประมาณให้เพียงพอเพื่อให้สามารถสุ่มตรวจทั้งในโรงงานและจากท้องตลาดได้ด้วย และหากมีงบประมาณที่เพียงพอเชื่อว่า สมอ. จะสามารถออกแบบระบบการตรวจผลิตภัณฑ์ได้ครอบคลุมมากขึ้นกว่านี้ได้

นอกจากนี้ การที่ สมอ. กำหนดให้ เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ต้องมีเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด (QR Code) ประกบอยู่ควบคู่กันนั้นเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ผลิตและข้อมูลการผลิตได้ และเห็นว่าในปัจจุบันการทำให้สินค้ามีระบบคิวอาร์โค้ดจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากทีเดียว

นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสุ่มตรวจข้างต้น หน่วยงานควรต้องมีการตรวจหมวกนิรภัยในลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และพบว่ามีการใส่หมวกนิรภัยร่วมด้วยแล้ว รวมถึงอุปกรณ์ของหมวกนิรภัยไม่ได้มีการแตกหักมากแต่อย่างใด ประกอบกับหากประเมินแล้วว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่ได้มีความรุนแรงมาก แต่ทำไมถึงยังได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงควรมีการสุ่มตรวจหมวกนิรภัยที่มีผู้ต้องการจะนำไปบริจาคโดยผ่านการสั่งผลิตเป็นล็อตใหญ่ ๆ หรือการขายรถแถมหมวกนิรภัย เป็นต้น

นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุทิ้งท้ายอีกว่า การที่ในต่างประเทศมีการส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานของประเทศเหล่านั้นจะมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ในเวียดนาม จะมีการระบุในกฎหมายว่าผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องมีหมวกนิรภัยด้วย และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าไม่ได้สวมหมวกนิรภัยครั้งที่สองขึ้นไปจะมีค่าปรับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ และบางรายถึงอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้

ดังนั้น คนในประเทศจึงให้ความสำคัญมากกับการสวมหมวกนิรภัยเป็นอย่างมาก และหากในไทยมีการบังคับใช้ที่เข้มงวดและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำให้ผู้ขับขี่มั่นใจในคุณภาพของหมวกนิรภัยว่าสวมใส่ไปแล้วจะมีความปลอดภัย คาดว่าจะทำให้ความสูญเสียบนท้องถนนลดลงได้อย่างมาก

ชัญญา สุทธจินดา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจาก สมอ. อธิบายว่าสมอ. มีระบบตรวจติดตามหมวกกันน็อกหลังจากออกใบอนุญาต โดยก่อนหน้านี้จะมีทั้งการสุ่มตรวจตัวอย่างจากท้องตลาดในลักษณะเดียวกับที่เอ็มเทคทำ และสุ่มตรวจสอบหมวกกันน็อกที่โรงงานผู้ผลิต และสุ่มเก็บมาทดสอบทุกรายการด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันติดปัญหาเรื่องงบประมาณจึงมีเพียงการสุ่มตัวอย่างจากที่โรงงานเท่านั้น ทั้งนี้ สมอ. จะมีการตรวจสอบหมวกกันน็อกรุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อมูลผลทดสอบของสภาผู้บริโภคและเอ็มเทคอีกครั้งหนึ่ง และจะเร่งนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากท้องตลาด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

สำหรับเรื่องสัญลักษณ์ มอก. นั้น ชัญญา ยืนยันว่า สัญลักษณ์ มอก. ต้องแสดงควบคู่กับคิวอาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนแล้วจะเชื่อมไปยังฐานข้อมูลของ สมอ. ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงรายละเอียดของสินค้า ชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า และข้อมูลอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 หากผู้รับใบอนุญาตรายใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท

“ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ สิ่งแรกที่ควรสังเกตคือ เครื่องหมายมาตรฐานพร้อมQR Code ที่แสดงอยู่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทำ หรือนำเข้าในแบบ รุ่น ขนาด ที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนด สามารถแจ้ง หรือร้องเรียนมาที่ สมอ. ผ่านหน้าของ www.tisi.go.th หรือที่  [email protected] เมื่อคดีสิ้นสุด สมอ. มีรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสด้วย” ผู้แทนจาก สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค