สภาผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) ครั้งที่ 1 ขึ้น ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เมื่อวันที่ 2 – 3 ตุลาคม พ.ศ.2567 ณ โรงแรมริเวอร์ตัน อัมพวา อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม ซึ่งได้รับเกียรติจาก บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ประธานเปิดงาน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องการสื่อสารว่า ถ้าหากให้พูดถึงการสื่อสาร ตอนนี้เราต้องตรงไปตรงมา ไม่ต้องประดิษฐ์คำ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ระดับภูมิภาค แต่ขึ้นมาเป็นระดับประเทศแล้วนั่นก็คือเรื่องของ ออนไลน์ ตอนนี้ทุกคนใช้สื่อออนไลน์เยอะขึ้น โดยไม่มีเกราะคุ้มกันในการใช้ ใครแข็งแรงก็รอด ใครไม่แข็งแรงก็ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ พูดได้ว่าขณะนี้โลกออนไลน์เป็นโลกของการหลอกลวง เพราะฉะนั้นที่เรามาเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการนี้เพื่อที่จะมาติดอาวุธให้กับสมาชิกสภาผู้บริโภคทุกคนให้ผลิตคอนเทนต์ที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย เสมือนเป็นเพื่อนผู้บริโภค และเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคทุกคน
ด้านสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโครงการ #ปักหมุดสร้างสื่อเซฟผู้บริโภค สภาผู้บริโภค อยากจะติดอาวุธ และสร้างเครื่องมือให้กับคนทำงานสายคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อพิสูจน์ว่า…ทุกคนสามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ โดยที่ทุกคนมีองค์ความรู้อยู่ในตัวแล้ว เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรที่ให้คนทำงานสายคุ้มครองผู้บริโภคเอาคอนเทนต์ตรงนี้ออกมาทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ บรรยากาศการอบรมเชิงปฏิบัติการ เริ่มด้วยการเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภค…ตัวแทนของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภค” นำโดย คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค คุณสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และคุณรมณีย์ เต็มเปี่ยม นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความคิดเห็นต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตสื่อ รวมไปถึงการ Workshop ภายใต้หัวข้อ “เคล็ด (ไม่ลับ) สร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค” โดย ดร.อิศริยา สายสนั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่มีการนำแอปพลิเคชันตัดต่อวิดีโอมาใช้ในการผลิตคอนเทนต์ให้โดนใจดึงดูดใจผู้บริโภคในธีมต่างๆ เช่น ละครสั้น, Q&A เป็นต้น
จากนั้น ให้ผู้เข้าโครงกาอบรม แบ่งกลุ่ม Workshop ต่อยอดแนวคิด และสร้างคลิปสั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ กับอินฟลูเอนเซอร์ คุณดวงฤดี บุญบำรุง (ลูลู่ โปงลางสะออน) ที่มีผู้ติดตามกว่า 750K มาให้ความรู้ด้านการทำคอนเทนต์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวางแผน ตลอดจนถึงการเผยแพร่ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง
ลูลู่ โปงลางสะออน เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้ทำให้รู้ว่า สภาผู้บริโภคมีความสำคัญจริงๆ มีความหมายต่อผู้บริโภคอย่างไร และในฐานะตัวเราเองก็เป็นผู้บริโภค ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น การได้มาร่วมกิจกรรมกับสมาชิกสภาผู้บริโภคยิ่งทำให้เข้าใจถึงความสำคัญขององค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค เชื่อว่า ทุกคนมีอาวุธอยู่ในมือนั่นคือ ความรู้ และสามารถนำไปสื่อสารต่อให้สังคมรู้ว่า สภาบริโภคคือผู้พิทักษ์สิทธิและเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้บริโภคทุกคน
ทั้งนี้ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค ซึ่งมีหน้าที่ผลิตและเผยแพร่สื่อ เพื่อเตือนภัยให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทัน และรู้จักสร้างเกราะให้กับตัวเอง ยังได้จัดประกวดคลิปวิดีโอภายใต้โครงการ “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระดับภูมิภาคขึ้น โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ เช่น รู้ทันกลลวงการถูกหลอกทางออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์และหลอกให้รักหรือลงทุน ฯลฯ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคได้แก่ ทีมเปิดก่อนได้ปูด
สุรัติ มัจฉาองค์กรสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการจากประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนทีม เปิดก่อนได้ปูด ได้ให้ความเห็นว่า “ที่ชื่อทีมว่าเปิดก่อนได้ปูด เราให้มีความสอดคล้องกับโจทย์ที่ได้มาคือ ของไม่ตรงปก ซึ่งทีมมีการวางแผน ตั้งแต่วางตัวละครบทบาทสมมุติ เมื่อเอามารวมกันแล้วก็จะเป็นเนื้อเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมโครงการ จึงทำให้เป็นทีมที่ชนะในครั้งนี้ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากวิทยากรประจำกลุ่มก็คือ คุณลูลู่ โปงลางสะออน ว่าให้ทำลักษณะแนวตั้ง และทำเป็นละครสั้น ที่สำคัญต้องดึงดูด สะดุดตาคนที่เลื่อนผ่านฟีดให้ได้ภายใน 3 – 5 วินาที หลังจากนั้นก็ให้คนที่ดูค่อยๆ ซึบซับกับเนื้อหาที่เราวางไว้ และตอนท้ายของคลิปก็สอดแทรกประโยชน์ของผู้โภคให้ได้มากที่สุด ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นก็ยังดีใจแค่ครึ่งเดียวเพราะเป็นระดับภูมิภาค เราต้องการเก็บความดีใจเอาไว้อีกครึ่งหนึ่ง เพื่อลุ้นในการแข่งขันระดับประเทศ”
และณัศญ์สยา วิษณุกรโยธิน องค์กรสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการจากกาญจนบุรี ตัวแทนทีมเอวลั่นปั๊ด ให้ความเห็นว่า “การมาเข้าร่วมโครงการนี้นอกจากความสนุกแล้ว ทุกคนยังได้ความรู้ เนื้อหาสาระที่สมาชิกสภาผู้บริโภคทุกคนได้รับและเอาไปปรับใช้ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็เป็นงานใหม่ของพวกเราทุกคน และจากการที่เคยเล่นแต่เฟซบุ๊กก็จะหันมาเริ่มเล่น TikTok เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำคอนเทนต์ที่มีสาระเพื่อผู้บริโภคต่อไป”
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 ทีมผู้ชนะระดับภูมิภาค ได้รับประกาศนียบัตรและเงินสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการผลิตคลิปวีดีโอในการแข่งขันระดับประเทศ กับองค์กรสมาชิกในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อชิงเงินรางวัลและโล่เกียรติยศต่อไป