สภาผู้บริโภค สรุปบทเรียน หลัง 3 ปี พบคดีพุ่ง 132 เรื่อง ‘สมชาย หอมลออ’ แนะพิจารณาคดีอย่าติดกรอบเดิม ใช้ ‘กฎหมายสังคม’ (Social Law) เป็นหลักตีความเกี่ยวกับคดีผู้บริโภค
วันที่ 6 – 7 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภค จัดงาน “สรุปบทเรียนการดำเนินคดีสภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อรายงานสถานการณ์และสรุปบทเรียนการดำเนินคดีของสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินคดี การช่วยเหลือทางคดี และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค ระบุว่า สิทธิผู้บริโภคเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในแง่ของการบริหารและเรื่องการฟ้องร้องคดี อย่างไรก็ตาม มุมมองในการตีความหรือความเข้าใจของทั้งทนายความ เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค รวมถึงการตีความของศาลเป็นเรื่องสำคัญมากในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
สมชาย กล่าวว่าปัจจุบันการตีความพิจารณาคดีติดอยู่กับกรอบของกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไม่เท่าเทียมกัน ผู้บริโภคมักจะถูกเอาเปรียบเสมอด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจจะใช้หลักความเสมอภาค และพิจารณาจากหลักเจตนาอย่างเดียวไม่ได้ จึงมีหลักกฎหมายหนึ่งเกิดขึ้นเรียกว่า กฎหมายสังคม (Social Law) ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐควรใช้เป็นหลักในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งการพิจารณาคดี และการปรับปรุงหรือตรากฎหมาย
เนื่องจากสิทธิผู้บริโภคที่ถูกระบุอยู่ในกฎหมายปัจจุบันมีเพียง 5 ข้อ อาจไม่ครอบคลุมกับปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ดังนั้นโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สิทธิที่อยู่ในมาตราเหล่านั้นถูกตีความไปในทางขยายการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สิทธิในการเลือกหาสินค้าและบริการ ต้องเชื่อมโยงกับเรื่องการผูกขาดสินค้าหรือจำกัดการแข่งขันทางการค้าด้วย เพื่อให้สามารถคุ้มครองและช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การเป็นทนายไม่ใช่การรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ชนะคดีเท่านั้น แต่ต้องสังเกตและรวบรวมข้อมูลเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเชิงนโยบาย อีกหน้าที่หนึ่งคือการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความยุติธรรมด้วย” สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงภารกิจหนึ่งของสภาผู้บริโภค คือ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งการให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน เจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ทนายความเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ภารกิจของสภาผู้บริโภคสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และทำให้สามารถคุ้มครอง ช่วยเหลือผู้บริโภคได้มากขึ้น
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เป้าหมายของการฟ้องคดีของสภาผู้บริโภคไม่ใช่แค่เรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือการป้องปรามการเอาเปรียบผู้บริโภคของนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ทั้งนี้ การสะท้อนปัญหาหรืออุปสรรคระหว่างการดำเนินคดีสภาผู้บริโภคจะรวบรวมและทำข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ทบทวนแก้ไขปัญหาเหล่านั้นต่อไป
“เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคเข้าไปรายงานความก้าวหน้าที่รัฐสภา พบว่ามีจำนวนคดีที่สภาผู้บริโภคกำลังช่วยเหลือผู้บริโภคจำนวน 119 คดี แต่วันนี้พบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 132 คดี เป็นเครื่องยืนยันว่า ทุกวันนี้การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น ในปี 2568 สภาผู้บริโภควางแผนว่า ทนายที่ขึ้นทะเบียนแต่ยังไม่ได้ทำคดีให้เข้ามาช่วยงานที่สำนักงานสภาผู้บริโภค เพราะมีผู้บริโภคเข้ามาขอความช่วยเหลือทุกวัน” สารี ระบุ
ขณะที่ โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า คดีที่สภาผู้บริโภคดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) สภาเป็นผู้ฟ้องคดีเอง 2) ช่วยเหลือหรือดำเนินคดีแทนผู้บริโภคร้องขอ และ 3) สนับสนุนทนายความในคดีที่ผู้บริโภคยื่นฟ้องไว้ต่อศาลด้วยตนเอง โดยตั้งแต่ปี 2564 – 2567 สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคในงานด้านคดี 132 คดี หากดูสถิติรายปี ช่วงปี 2564 การดำเนินคดีส่วนมากจะเป็นเรื่องสินค้าและบริการ ปี 2565 พบว่า คดีส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ปี 2566 – 2567 มีปัญหาเรื่องการเงินและการธนาคารมากที่สุด
“ภาพรวมทั้ง 3 ปี มีคดีด้านการเงินและการธนาคารเป็นมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 59 คดี หรือร้อยละ 50 ของคดีทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นเรื่องปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน รองลงมาเป็นด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 39 คดี” โสภณ กล่าวและว่า เสียงสะท้อนผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้นตอของปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เกิดจากที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ และไม่มีการตรวจสอบหลังจากออกใบอนุญาตเรียบร้อย ส่วนปัญหาอันดับ 3 ด้านสินค้าและบริการ 21 คดี ส่วนมากเป็นเรื่องการผิดสัญญาการซ่อมหรือซื้อขายรถยนต์ และเรื่องสินค้าไม่ปลอดภัย
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ที่ปรึกษาประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำคดี โดยระบุว่าทนายความของภาคธุรกิจ เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะคดี แต่การเป็นทนายความด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือทนายความทำงานด้านคดีสาธารณะทำให้ได้ดำเนินงานตามข้อเท็จจริงจริง ๆ และมองว่าการนำคดีที่มีความเสียหายเล็กน้อยแต่เสียหายเป็นวงกว้างขึ้นสู่ศาล ข้อดีคือทำให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วน ยชญ์วัลย์ ติรกนกสถิต ผู้บริโภคที่ได้รับความช่วยเหลือจากกรณีถูกมิจฉาชีพหลอกลวงใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าต่างประเทศ เสนอให้สภาผู้บริโภคมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับเครดิต รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ เนื่องจากแต่ละคดีมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน อาจจะช่วยย่นระยะเวลา และทำให้สามารถดึงข้อกฎหมายมาใช้การช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนร่วมกันในหัวข้อ “บทเรียนการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งมีการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการดำเนินคดี เริ่มตั้งแต่ปัญหาของข้อเท็จจริง ที่อาจการคลาดเคลื่อน ส่งผลต่อการดำเนินคดี ซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น การจัดหาพยานผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในการสนับสนุนการดำเนินคดี ปัญหาการพิจารณาคดี ที่ยังพบว่ามีเรื่องการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นคนพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ รวมไปถึงปัญหาการไต่สวนคดีผู้บริโภคของศาล โดยปัจจุบันเห็นว่าศาลยังอาจไม่ได้ใช้กระบวนการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงอย่างเต็มที่และไม่ได้นำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไปใช้ในการพิจารณาคดีเท่าที่ควร
สำหรับข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น มีหลายประการ อาทิ ควรมีมาตรการกำหนดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาคดีให้เหมาะสม มีศาลชำนาญการพิเศษเกี่ยวกับคดีผู้บริโภค แยกออกชัดเจนจากคดีแพ่งทั่วไป เพื่อให้การพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย รวมถึงเสนอให้สภาผู้บริโภคมีบทบาททำงานกับศาลเพื่อสะท้อนปัญหาการดำเนินคดี พัฒนาความร่วมมือในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้ทนายความในการดำเนินคดีกับสภาองค์กรของผู้บริโภค