สภาผู้บริโภค เปิดบ้านต้อนรับ CASE สิงคโปร์ จับมือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 สภาผู้บริโภค นำโดยอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค และภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดบ้านรับต้อนรับ องค์กรผู้บริโภคจากประเทศสิงคโปร์ (The Consumers  Association of Singapore : CASE) ที่มาเยี่ยมเยียนและพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวิธีการทำงาน ปัญหา – อุปสรรคในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะประเด็นภัยออนไลน์ พร้อมวางแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจาก CASE พร้อมชวนแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาซื้อขายออนไลน์และภัยทุจริตทางการเงิน

นิสรา แก้วสุข ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ บรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของสภาผู้บริโภคกับการเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย ทั้งการทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น จัดทำนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาภัยทุจริตทางการเงินที่ผู้บริโภคไทยต้องเผชิญ โดยจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 ตุลาคม 2567 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาชญกรรมออนไลน์ 708,414 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 74,893 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ถูกหลอกลวงมากที่สุดคือช่วงอายุ 22 – 29 ปี

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอมาตรการหน่วงการโอนเงินจำนวน 10,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้บริโภคได้มีเวลาตรวจสอบว่าเป็นธุรกรรมทางการเงินที่สุจริต ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือไม่ และต้องแจ้งเตือนโดยทันทีที่มีการโอนเงินเกิน 10,000 บาทไปยังผู้บริโภคเมื่อเกิดธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงและอาจเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคได้

ส่วนประเด็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ นิสรากล่าวว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ 2 ฉบับ คือ 1) พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรงปี 2545 และ 2) พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ปี 2566 แต่ยังพบปัญหาเรื่องการกำกับดูแล การกำหนดโทษตามกฎหมายที่ค่อนข้างน้อย รวมไปถึงปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหลที่ยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายเรื่อง ‘เปิดก่อนจ่าย’ หรือ ที่เรียกว่า “มาตรการส่งดี ( Dee-Delivery)” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา “เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567”  ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้

เด็กซ์เตอร์ เทย์ (Dexter Tay) กรรมการบริหารของ CASE ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องปัญหาภัยทุจริตทางการเงินว่า สำหรับในสิงคโปร์นั้น มีปัญหาในลักษณะเดียวกันกับไทย แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักจะเป็นตำรวจ ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิความเสียหาย จะมีการแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบ เช่น เมื่อเกิดความเสียหายจากการถูกดูดเงิน มีหน่วยงานใดที่ต้องร่วมรับผิดชอบบ้าง และต้องรับผิดชอบกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง CASE จะส่งรายละเอียดข้อมูลให้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

สำหรับเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์นั้น ปัจจุบัน CASE ได้พูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีฐานอยู่ประเทศสิงคโปร์อย่าง ชอปปี (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) และ ติ๊กต็อกชอป (TikTok Shop) ว่าทุกแพลตฟอร์มต้องมีระบบคนกลาง หรือ Escrow account คือมีคนกลางที่ถือเงินไว้ก่อน จนกว่าผู้บริโภคจะได้รับและตรวจสอบสินค้าเรียบร้อย จึงโอนเงินให้ผู้ขาย เพื่อแก้ปัญหาการถูกหลอกถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ประสบปัญหาเรื่องความเสียหายจากการซื้อขายเฟซบุ๊กเช่นกัน ทั้งนี้ กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการแข่งขันโดยตรง เพื่อยกระดับการกำกับดูแล

เด็กซ์เตอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยินดีร่วมมือกับสภาผู้บริโภคในการทำงานและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างสองประเทศร่วมกัน