รวมพลัง! สภาผู้บริโภค จับมือ สภาทนายความ ช่วยเหลือคดีสาธารณประโยชน์

สภาผู้บริโภค หารือ สภาทนายความ สร้างความร่วมมือการดำเนินคดีเชิงป้องกัน กรณีการคุ้มครองผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้ พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาและช่วยเหลือด้านคดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 สภาผู้บริโภค เข้าพบ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินคดีเชิงป้องกัน กรณีการคุ้มครองผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้ และความร่วมมือสนับสนุนทนายความกับการคุ้มครองผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากอุบัติเหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ประเด็นปัญหาหลักคือเรื่องการตรวจสภาพรถ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น จึงเป็นที่มาการเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือการดำเนินคดีเชิงป้องกัน สำหรับกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังหารือถึงความร่วมมือในประเด็นอื่น ๆ ทั้งการฟ้องคดีประเด็นการสร้างถนนพระราม 2 ที่ก่อสร้างมานานหลาย 10 ปี รวมถึงการขับเคลื่อนร่วมกันใน 5 ประเด็นมุ่งเป้าที่สภาผู้บริโภควางแผนจะดำเนินการใน 3 ปี ได้แก่ 1) การลดความเสียหายจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ 2) เมืองที่เป็นธรรม 3) การเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย เพียงพอ และเป็นธรรม 4) บริการสุขภาพเท่าเทียม มีมาตรฐาน และ 5) เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ และมีส่วนร่วม

จากการเล็งเห็นถึงเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือประโยชน์สาธารณะ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของประชาชนส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสององค์กรเป็นที่พึ่งของประชาชนมากขึ้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

ในส่วนของประเด็นขนส่งสาธารณะ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลสถิติภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะว่า ระหว่างปี 2561 – 2566 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะรวมมากกว่า 1,500 ครั้ง และมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทวีความรุนแรงและความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมาจากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

สำหรับกรณีอุบัติเหตุไฟไหม้รถทัศนศึกษานั้น ข้อเท็จจริงการตรวจสอบสภาพรถเบื้องต้นพบว่า  มีการจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2513 หรือเมื่อ 54 ปีก่อน พบการดัดแปลงเครื่องยนต์จากอีซูซุเป็นเบนซ์ ดัดแปลงโครงสร้างรถยนต์ และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนติดตั้งแ ก๊สเอ็นจีวี (NGV) กับ กรมการขนส่งทางบก ขบ. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสงสัยอีกมากมาย เช่น เรื่องจำนวนถังแก๊สที่ติดตั้งบนรถคันดังกล่าว หรือการยกเว้นการกำหนดอายุแชสซีสำหรับรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงหลักฐานประวัติรถที่เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ระบุว่า ติดตั้งจำนวน 3 ถัง ส่วนข้อมูลจากการตรวจสภาพขนส่งฯ ระบุว่าติดตั้ง 6 ถัง ขณะที่จำนวนถังแก๊สที่พบหลังเกิดอุบัติเหตุมีจำนวน 11 ถัง โดยที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังคงคลุมเครือและไม่มีข้อสรุปจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าตรวจสภาพผ่านมาได้อย่างไร สะท้อนถึงมาตรฐานความไว้วางใจในการตรวจสภาพรถโดยสารของหน่วยงานรัฐที่เป็นความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค

คงศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินคดีว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันที่เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคมักให้เซ็นเอกสารยินยอมและปฏิเสธการเรียกร้องการชดเชยอื่น ๆ เพิ่มเติมซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คดีความที่ผ่านมา ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองและชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ มีข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและเรื่องการชดเชยเยียวยาของรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่พบว่าหลายกรณีได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ไม่เป็นธรรม

ดร.วิเชียร ชุบไธสง

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าสำหรับกรณีรถโดยสารไฟไหม้เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมนั้น สภาทนายความฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ทั้งทางอาญาและแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิด การชดเชยเยียวยา โดยเข้าไปเป็นทนายความของผู้เสียหาย เนื่องจากไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนฟ้องคดี นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีทางปกครอง ซึ่งต้องหาข้อมูลว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีความบกพร่องต่อหน้าที่มากน้อยเพียงใด รวมถึงข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

“การจะดำเนินคดีทางปกครองต้องศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และเป็นเรื่องที่ต้องดูหลายมิติ หากมีความผิดจริง การสั่งย้ายถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก และควรมีการเอาผิดหรือลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และนอกเหนือจากศึกษาเรื่องนี้เพื่อฟ้องเป็นคดีปกครองแล้ว ควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการตรวจสภาพรถ เช่น ให้มีการตรวจสอบและสุ่มตรวจเมื่อยังไม่ถึงเวลาตรวจ เพื่อให้ได้เห็นสภาพรถที่ใช้งานจริง” นายกสภาทนายความ กล่าว

ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่ายินดีให้ความร่วมมือกับสภาผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และเห็นควรมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและฟ้องคดีประโยชน์สาธารณะ โดยจะหารือเรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาร่วมหรือเข้ามาให้ข้อมูลต่อไปนอกจากการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของของรถโดยสารแล้ว ควรขยายผลไปถึงเรื่องความปลอดภัยของ เรื่องรถบรรทุก รถสองแถวที่ถังแก๊สวางอยู่ใต้ที่นั่งของผู้โดยสาร รถรบส่งนักเรียนซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่มักจ้างบุคคลภายนอกเดินรถ ส่งผลให้ไม่มีผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุ เรื่องเหล่านี้มีมาตรฐานในการควบคุมอย่างไร “เรื่องเหล่านี้ถึงเวลาต้องทำตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีใครทำ”

สัญญาภัชระ สามารถ

สัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า คณะทำงานที่สภาทนายความตั้งหลังจากเกิดกรณีรถโดยสารไฟไหม้ ได้ออกแบบให้เป็นการทำงานร่วมระหว่างทนายความและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบันได้หารือแนวทางในการฟ้องคดีทั้งแพ่ง อาญา และปกครอง นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร โดยครอบคลุมถึงรถสาธารณะอื่น ๆ เช่น รถตู้ แท็กซี่ ด้วย ทั้งนี้ การดำเนินงานอย่างจริงจังของหน่วยงานภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องความปลอดภัย แม้ว่ากระทรวงคมนาคมจะแถลงออกมาตรการต่าง ๆ มากมายซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ไม่สามารถยืนยันว่าได้ว่าจะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติหรือไม่ ดังนั้น ในทางปกครองตั้งเป้าหมายให้เกิดมาตรฐานด้ายความปลอดภัย โดยเน้นไปหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายทั้งในเรื่องการขนส่ง เช่น กระทรวงคมนาคม ขบ. รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา เช่น กระทรวงศึกษาธิการ”

“ปัญหาที่เห็นจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คือเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ความรู้และความเชี่ยวชาญของคนขับและพนักงานประจำรถในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้โดยสารทราบ ซึ่งในความเป็นจริงรถสาธารณะควรจะมีมาตรฐานมากกว่ารถปกติขึ้นไปอีก ทั้งการตรวจสภาพ ความพร้อมของอุปกรณ์ และการให้ความรู้กับพนักงานประจำรถ” สัญญาภัชระแสดงความเห็น

อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้สภาทนายความฯ ตั้งเป้าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นระเบียบ ซึ่งรวมถึงรถโดยสารอื่น ๆ เช่น รถตู้ แท็กซี่ และครอบคลุมถึงเรื่องภัยคุกคามอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหลังจากนี้สภาทนายความฯ จะหารือและขอความเห็นจากสภาผู้บริโภค ในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เจษฎา ปิยะสุวรรณวานิช

เจษฎา ปิยะสุวรรณวานิช กรรมการเผยแพร่กฎหมาย สภาทนายความฯ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง แบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนที่ 1 เริ่มต้นจากประกาศของกรมการขนส่งทางบกในการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการออกใบอนุญาตที่ครบถ้วนและรัดกุม เช่นกำหนดเรื่องการมีอุปกรณ์ความปลอดภัยทอย่างครบถ้วน เรื่องการกำหนดในรถโดยสารต้องมีปุ่มเปิดประตูฉุกเฉินอัตโนมัติ ฯลฯ

ส่วนที่ 2 คือขั้นตอนหลังจากออกในอนุญาต ซึ่งมีประเด็นเรื่องการตรวจสภาพรถยนต์ที่อาจต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจ หรือกำหนดระยะการตรวจตามการใช้งาน เช่น กำหนดตามระยะทางที่วิ่ง เช่น 100,000 กิโลเมตร 200,000 กิโลเมตร รวมถึงจัดให้มีศูนย์ข้อมูลที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และสามารถรู้ได้ว่ารถโดยสารคันดังกล่าวมีผลการตรวจสภาพรถเป็นอย่างไร ตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เป็นต้น ส่วนที่ 3 คือการวางมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ เช่น กำหนดระยะพัก เช่น พักทุก 2 ชั่วโมงหรือกี่กิโลเมตร จำนวนครูประจำรถ ผู้ขับขี่ต้องเชี่ยวชาญเส้นทาง

ส่วนที่ 4 คือการวางมาตรฐานการเยียวยาผู้ประสบภัย ควรกำหนดขั้นต่ำในการเยียวยา เช่น 1,000,000 บาทต่อ 1 ที่นั่ง และส่วนสุดท้ายคือแนวทางการช่วยเหลือด้านการฟ้องคดีทั้งแพ่ง อาญา และปกครอง