พลังผู้บริโภค กว่า 18,000 รายชื่อ ร่วมผลักดันแก้กฎหมาย องค์กรสมาชิกรวมพลังเก็บรายชื่อเกินหมื่น ในเวลาไม่ถึงเดือน หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทย
วันที่ 6 ตุลาคม 2567 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากปิดรับลงชื่อผลักดันกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … 2. พระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และ 3. ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) ไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน วันนี้สภาผู้บริโภคได้รายชื่อครบแล้ว รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 18,000 รายชื่อ/ฉบับ
“ต้องขอขอบคุณผู้บริโภคที่ร่วมลงชื่อเข้าแก้กฎหมายในครั้งนี้ และขาดไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ จากพี่น้ององค์กรสมาชิกทุกองค์กรที่ช่วยกันรณรงค์กับผู้บริโภคในพื้นที่ ปัจจุบันมีผู้บริโภคเข้าชื่อมาฉบับละไม่น้อยกว่า 18,000 รายชื่อ”
เมื่อถามถึงความท้าทายของการผลักดันกฎหมายครั้งนี้ อิฐบูรณ์ เผยว่า จากการดำเนินงานในช่วง 2 – 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นการดำเนินงานในช่วงหน้าฝน ที่อาจมีอุปสรรคบ้างบางครั้ง แต่ก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้เกิน 10,000 ในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ เห็นได้ถึงความเข็มแข็งขององค์กรสมาชิก และความร่วมมือของผู้บริโภคที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
แม้ว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายองค์กรของบริโภคได้มีส่วนร่วมกับเครือข่ายประชาชน และภาคประชาสังคมขับเคลื่อนเรื่องบํานาญประชาชนนั้น แต่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ริเริ่มโดยสภาผู้บริโภค และทำทีเดียวพร้อมกัน 3 ฉบับ
ทั้งนี้ หลังจากได้รายชื่อครบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิมพ์รายชื่อเข้าสู่ระบบ และตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน แล้วจะมีการนัดหมายกับทางสำนักงานทางประธานรัฐสภาเพื่อทำการยื่นรายชื่อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าเดือนพฤศจิกายนที่จะได้นัดหมายเครือข่ายองค์กรสมาชิก รวมถึงผู้บริโภคที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานในการยื่นเอกสารรายชื่อต่อทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทางรัฐสภาได้ดำเนินการตรวจสอบในขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป ถึงแม้ว่า การร่วมลงชื่อจะจบแล้ว แต่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคยังไม่จบ หลังจากนี้สำหรับผู้บริโภคควรมีการจับตามอง สำหรับการยื่นกฎหมายว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
“ผมคิดว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เป็นการวางหมุดที่จะสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภค ที่เห็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องของการเติมช่องโหว่ของกฎหมายที่ไม่มีอยู่ในประเทศไทย อย่างเช่น ปัญหาเรื่องของความชํารุดบกพร่องของสินค้า ที่ผู้บริโภคเกิดปัญหามากมาย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือการให้ความรู้กับผู้บริโภค นำปัญหาจากเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ มาสะท้อนถึงประเด็นปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญอยู่ ที่ซึ่งสามารถจัดการในเชิงระบบได้ด้วยการที่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแล มีหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน และสิ่งสำคัญก็คือการที่จะต้องมีการสร้างการรับรู้ที่จะทำให้ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค”
ทั้งนี้ หากทางรัฐบาลยังไม่เห็นชอบกฎหมาย 3 ฉบับนี้ สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า อย่างไรก็ตามพลังของสังคมเป็นพลังที่สามารถสร้างแรงกดดันได้ เสียงของผู้บริโภคที่สะท้อนถึงความทุกข์ จะสามารถสะท้อนความต้องการไปยังผู้มีอำนาจต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะภาคการเมือง ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นเสียงที่ภาคการเมืองต้องให้ความสำคัญ
“เรามีรัฐบาลอย่างน้อยก็มาจากฐานของการเลือกตั้ง มาจากเสียงของผู้บริโภค ผมคิดว่านักการเมืองเหล่านี้จะต้องรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภค และบทบาทของสภาผู้บริโภคเรามีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภค เรายินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นคนสะท้อนความเจ็บปวดของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากปัญหาการละเมิดสิทธิต่าง ๆ มาเป็นพลังผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขกฎหมายครั้งนี้”
ท้ายสุด อิฐบูรณ์ ให้ความเห็นว่า ทุกเสียงของผู้บริโภคนั้นมีความสำคัญ สามารถสะท้อน สนับสนุน หรือให้ความเห็นข้อเสนอแนะ มาทางสภาผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่เบอร์ 1502 เฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของบริโภค หรือตามประเด็นที่สภาผู้บริโภคได้สื่อสารออกไปช่องต่างอื่น ๆ