กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าว ตรวจยึดเตารีดไฟฟ้า จากกรณีหลอกขายสินค้าไม่ตรงปกผ่านเพจเฟซบุ๊ก
จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดี กรณีมีเพจเฟซบุ๊กหลอกขายเตารีดแรงดันไอน้ำ โดยโฆษณาว่าเป็นแบรนด์ Tefal แต่ส่งสินค้าเป็นเตารีดจีน ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง ปคบ. เอาผิดเพจหลอกขายเตารีด)
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2564) บก.ปคบ.จัดแถลงข่าวความคืบหน้ารวมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน กองบังคับการ 3 บก.ปคบ.ลงพื้นที่ ขอศาลอนุมัติหมายค้นโกดังแห่งหนึ่งย่านราษฎร์บูรณะ พบนายสมพงษ์ แซ่หลี่ อายุ 26 ปี เป็นผู้ดูแลโกดัง โดยเบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 50 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการ ปคบ. ระบุว่า จากการตรวจค้นโกดังพบเตารีดไฟฟ้า พัดลมไอน้ำ และเครื่องไมโครเวฟ ที่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้ตรวจยึดอายัดไว้เพื่อตรวจสอบ ดังนี้ 1.เตารีดไฟฟ้า จำนวน 3,091 เครื่อง 2.พัดลม จำนวน 96 เครื่อง 3.ไมโครเวฟ จำนวน 58 เครื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ดังนี้
1. นำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 21 โทษตามมาตรา 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. โฆษณาเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 36 โทษตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นนายสมพงษ์ ผู้ดูแลโกดังให้ข้อมูลว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นโกดังรับคืนสินค้าจากลูกค้าทั่วประเทศ และตัวเองมีหน้าที่ส่งสินค้า รับคืนสินค้าที่โดนเคลม และโอนเงินคืนผู้เสียหายที่ติดต่อมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปคบ. กำลังรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อของออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะกรณีเตารีดเท่านั้น จึงอยากเตือนผู้บริโภคให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า ดูรีวิว และข้อมูลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ หรืออาจเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มที่จะมีผู้รับผิดชอบ หรือช่วยแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น
นฤมล กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้ผู้ขายของออนไลน์ทุกรายต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดขายปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดช่องโหว่ ที่บุคคลไม่หวังดีสามารถนำมาใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค และเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ นอกจากนี้ ต้องการให้มีช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ขายที่จดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อด้วย