สภาผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน พรรคการเมือง และประชาชน ร่วมกันคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ชี้ขัดมาตรา 9 พ.ร.บ. ผังเมือง ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรก ไม่รับฟังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน จี้จัดทำร่างผังเมืองใหม่โดยมีกระบวนการรับฟังประชาชนตั้งแต่ต้น
วันที่ 6 มกราคม 2567 กรุงเทพมหานครจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) หลังจากที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วรวม 4 ครั้ง
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ติดประกาศแสดงรายการเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมและเปิดโอกาสให้ผู้ไม่เห็นด้วยคัดค้านภายใน 90 วันก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ผังเมืองฉบับปรังปรุงครั้งที่ 4 โดยในเวทีมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกมาคัดค้านและแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขยายถนนและถูกเวนคืนที่ดิน โดยไม่ได้แจ้งหรือรับข้อมูลจาก กทม. มาก่อน
จากปัญหาดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนพรรคการเมือง รวมถึงประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงออกมาร่วมกันคัดค้านและคว่ำร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนเข้ามาร่วมร่างผังเมืองอย่างแท้จริง
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การร่างผังเมืองที่นำมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้มีกระบวนการที่ผิดขั้นตอน ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งกระบวนการที่ถูกต้องควรจะต้องรับฟังประชาชนก่อนว่าต้องการผังเมืองแบบใด ดังนั้น การร่างผังเมืองจนเสร็จแล้วค่อยมาสอบถามความเห็นของประชาชนและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จึงถือเป็นการผิดขั้นตอน
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบไม่เคยรู้เรื่องการร่าง “ผังเมืองฉบับวิปริต” นี้ ทั้งที่ตามกฎหมายผังเมือง มาตรา 9 ระบุว่า การวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ และผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องแจ้งแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายต่อประชาชนหรือชุมชนด้วย
“ผมขอถามว่า ในการร่างผังเมืองที่ขีดเส้นการเวนคืนถนน 148 สาย ระยะทาง 600 กว่ากิโลเมตร ที่พาดผ่านหลังคาบ้านประชาชน แต่ประชาชนไม่รู้เรื่องเลย แล้วใครเป็นคนขีดเส้นถนนกว้าง 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร 40 เมตร ถามประชาชนหรือยัง ช่วยมาถามประชาชนก่อนได้ไหม ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากถนนที่กว้างขึ้น นอกจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์” ก้องศักดิ์กล่าว
รัชนี บูรณภาธนะ เจ้าของที่ดินในซอยเสรีไทย 66 เขตมีนบุรี เล่าถึงความเดือดร้อนที่จะได้รับจากร่างผังเมืองฉบับดังล่าวว่า เจ้าหน้าที่วางผังเมืองขีดเส้นถนนทาบที่ดินในซอย 66 เต็มพื้นที่ 10 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา เป็นถนนทั้งหมด ซึ่งที่ดินแปลงนี้เป็นมรดกของคุณพ่อที่ต้องการให้ลูก 4 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ทราบเลยว่าการวางผังเมืองจะมีผลกระทบต่อบ้านของตัวเองโดยผู้วางผังเมืองไม่เคยแจ้งให้ทราบแม้แต่ครั้งเดียวว่าจะมีการเวนคืนและตัดถนนพาดผ่านที่ดินผืนดังกล่าว ถือเป็นการกระทำโดยพละการโดยแท้ จึงขอคัดค้านร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว
“คนจะวางผังเมืองทำไมไม่ไปดูว่าที่ดินของใคร และเขายินยอมหรือไม่ ข้าพเจ้าขอให้ลบแผนการสร้างถนนบนที่ดินของข้าพเจ้าออกโดยเร็ว โดยข้าพเจ้าไม่ยินยอมให้ทำถนนโดยเด็ดขาด” รัชนีกล่าว
สำหรับผู้ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย ดาริณ สิริสุวรรณกิจ พร้อมด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวเวนคืน ฉ.4 ที่จะมีการตัดถนน กล่าวว่า พื้นที่เอกชัย 31/1 บ้านถูกเวนคืนโดย พ.ร.ก.เวนคืน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งตนไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียวและไม่เคยรับรู้ว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่เคยรับรู้อะไร ตอนนี้ทางกลุ่มกำลังรอจดหมายจาก กทม. เพื่อที่จะนำไปยื่นต่อศาลปกครอง
“เวนคืนบ้านเราทำแบบนี้ได้หรือ ก่อสร้างถนน 1 หมื่นล้าน ไม่มีแม้แต่กระดาษใบเดียวที่จะแจ้งประชาชน ไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียว ไม่เคยรับรู้ว่ามีเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่เคยรับรู้อะไร คุณจะมาเอาบ้านเราไป แต่คุณยังไม่บอกเราเลย” ดาริณย้ำ
ด้าน กรณ์ จาติกวณิช ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่ากระบวนการและสาระของผังเมืองที่ กทม. เสนอมีปัญหา สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างฯ โดยกระบวนการที่มีไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ กทม. นำเสนอ ควรรับฟังประชาชนว่า แบบที่ กทม. เสนอมีข้อบกพร่องอย่างไร ไม่ได้มีการถามประชาชนอย่างจริงจังว่าแบบที่ประชาชนต้องการคืออะไร
กรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เจตนารมณ์ของการวางผังเมือง ที่มาของร่างนี้ และประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงแผนผังของ กทม. ฉบับนี้ เห็นได้ชัดว่าผู้ได้ประโยชน์มากสุดคือนายทุนและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะขยายถนน 148 เส้นทาง วัตถุประสงค์สำคัญคือการเพิ่มโอกาสสร้างตึกสูงในพื้นที่อยู่อาศัยที่มีความแออัด ซึ่งรวมทั้งการลดพื้นที่ซับน้ำของ กทม. ที่เป็นการเปิดช่องจากนายทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายพื้นที่ได้
ขณะที่ ภัณฑิล น่วมเจิม สส.พรรคก้าวไกล เขตคลองเตย–วัฒนา ระบุว่า การร่างผังเมือง ฉบับนี้ไม่มีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง มีประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจและไม่รับรู้เรื่องผังเมือง ซึ่งตามหลักการแล้ว ผังเมืองเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของชาว กทม. เนื่องจากมีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง จึงอยากให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และมีวิธีการในการสื่อสารให้ประชาชนทำความเข้าใจกับรูปแบบและการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองมากขึ้น
โดยภาพรวม เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประเด็นการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จบด้วยความไม่พึงพอใจของ เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เครือข่ายผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาคประชาชน และประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อรูปแบบการจัดการที่แทบไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และเรียกร้องให้มีการ ปรับปรุงในขั้นตอน กระบวนการ และเนื้อหาของการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ใหม่
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผังเมืองกรุงเทพ #ประชาพิจารณ์
ติดตามเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)ย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร-ปรับปรุงครั้งที่ 4 https://fb.watch/pp4oAc472n/?
ติดตามแถลงการณ์ “เครือข่ายภาคประชาชน “คว่ำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” ได้ที่เฟซบุ๊กเพจสภาผู้บริโภค https://fb.watch/pp4Acq_iAx/?