เสนอ ตรึงค่า Ft ม.ค. – เม.ย. 68 ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน

สภาผู้บริโภคเสนอ ตรึง ค่า Ft งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568 เพื่อคงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาท/หน่วย เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภค หนุน กกพ. ใช้ระบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net metering) พร้อมเสนอ ครม. ปรับปรุงรายละเอียดนโยบายด้านพลังงาน

จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568 เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย 5.26 บาทต่อหน่วย หรือ คงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ นั้น

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบาย สัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อ กกพ. 3 ข้อ ดังนี้

1) ขอให้ กกพ. ตรึงค่า Ft เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงกว่าเดิม และควรปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รวมทั้งควรเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อราคาค่าพลังงานไฟฟ้า ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม ตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567 ว่า “รัฐบาลจะสนับสนุนให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ อีกทั้งจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค”

2) ขอให้ กกพ. เสนอความเห็นของสภาผู้บริโภค* ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน

3) กกพ. ควรปรับปรุงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยกำหนดราคาแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถฝากไฟฟ้าส่วนเกินไว้ และดึงกลับมาใช้งานในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา โดยไม่มีการขายไฟฟ้าคืน ปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าคืนจากผู้บริโภค จากเดิม 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นราคาเดียวกับที่ กฟผ. ขายให้กับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และควรเร่งดำเนินการเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบ Net Billing สำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่กำหนดโควต้ากำลังการผลิตและระยะเวลาการรับซื้อ

ผศ.ประสาท กล่าวสรุปว่า วิธีการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงโดยส่วนใหญ่ สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายของรัฐโดยที่ไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมาย ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายว่า มีความตั้งใจที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้ประชาชนเพื่อให้ไม่ต้องเดือดร้อนกับการคิดค่า Ft ทุก 4 เดือนแบบที่เป็นอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับค่า Ft ในครั้งนี้ต่อ กกพ. ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เป็นที่เรียบร้อย

“คาดหวังว่า กกพ. จะเสนอความเห็นไปยังรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะนำข้อเสนอดังกล่าวมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ส่วนข้อเสนอที่มีให้กับ กกพ. ดำเนินการ ก็มีความคาดหวังว่า กกพ. จะตอบสนองเพื่อเป็นการทิ้งทวนก่อนที่ กกพ. ชุดปัจจุบันบางส่วนจะหมดวาระ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานฯ ระบุ


สำหรับความเห็นของสภาผู้บริโภคที่เสนอต่อ กพช. และคณะรัฐมนตรี
ผ่านไปทาง กกพ. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เพื่อกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

  1. ให้มีนโยบายเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดย
    • ให้ชะลอหรือยุติการลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโร งไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งมีแนวโน้มราคาแพงในอนาคต อีกทั้งไม่ตอบโจทย์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050
    • ให้ชะลอหรือยุติการดำเนินงานใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย. พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP 2018 Revision 1) จนกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (แผน PDP 2024) จะประกาศใช้
    • ให้ปรับโครงสร้างค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าซื้อไฟฟ้า (CP) จากโรงไฟฟ้าเอกชน โดยให้เปิดการเจรจาเพื่อลดค่าพร้อมจ่ายลงสำหรับโรงไฟฟ้าที่อายุใกล้ครบสัญญา และยืดการจ่ายค่าพร้อมจ่ายออกไปหรือยกเลิกค่าความพร้อมจ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่
      สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่สูงเกินสมควรจนมีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าทั้งระบบ และยังมีนโยบายกำหนดอายุสัญญา 5 ปีแต่ให้ต่ออายุสัญญาต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 นั้นควรยกเลิกนโยบายดังกล่าวโดยเร็ว
      ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนจนอาจเป็นเหตุให้มีการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐได้นั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า ภาครัฐสามารถกระทำได้โดยอาศัยนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาที่รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค  ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหตุสุดวิสัยที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐโดย กฟผ. ทำกับภาคเอกชนทุกฉบับว่า เหตุสุดวิสัยที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดได้ แต่ไม่ถือเป็นการผิดสัญญา ซึ่งจะส่งผลให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ กันไม่ได้นั้น ให้รวมถึงการกระทำของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลไว้ด้วย เช่น มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
    • ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่คิดกับกลุ่มปิโตรเคมีและการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดย กำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซที่มาจากก๊าซในอ่าวไทย เพื่อขายให้กลุ่มปิโตรเคมี เป็นราคาตลาดโลก และให้รายได้ส่วนเพิ่มจากการขายนี้นำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อใช้ในการอุดหนุนก๊าซหุงต้มในประเทศ และลดค่าเชื้อเพลิงที่โรงแยกก๊าซขายให้แก่ กฟผ. แล้วให้ กฟผ. ได้สิทธิเป็นรายแรกในการซื้อก๊าซมีเทนจากโรงแยกก๊าซในราคาปัจจุบัน หากเหลือจึงนำส่งเข้ารวมในพูลก๊าซเพื่อขายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนต่อไป
    • ให้สั่งการไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เร่งปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP 2024) ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นกับสาธารณะแล้ว ซึ่งสภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า
      • ควรทบทวนมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 (ครั้งที่ 164) เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยเป็นนโยบายที่ไม่คำนึงถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน และอาจเป็นการกระทำที่ผ่าฝืน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 8 (5) ที่กำหนดให้รัฐพึงมีนโยบายพื้นฐานว่าด้วยกิจการพลังงาน … ในการรักษาสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้าของรัฐ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยที่ 1/2566 เรื่องพิจารณาที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 กรณีที่นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 51 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดย กพช. และ กกพ. ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้
      • ให้ตั้งเป้าหมายในแผน PDP 2024 ให้ประเทศและประชาชนมีความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์รวมถึงพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ ให้เต็มศักยภาพซึ่งประเทศไทยเรามีสูงมาก โดยสามารถเริ่มจากตั้งเป้าหมายส่งเสริมโซลาร์รูฟทอปเป็นรายปีอย่างน้อยปีละ 3,000 เมกะวัตต์
      • ให้ปรับแผน PDP 2024 ให้มีการปลดปล่อยคาร์บอน ที่สอดคล้องกับแผนของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้มีพลังงานหมุนเวียน (RE) อย่างน้อยร้อยละ 68 ภายในปี พ.ศ. 2583 (ค.ศ. 2040) เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสภาวะโลกเดือดของประชาคมโลก และเนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ต้นทุนพลังงานถูกลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน
      • ให้ปรับแผน PDP 2024 โดยเน้นหลักการ “ความยืดหยุ่น (Flexibility)” ที่มุ่งเน้นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลาย ระบบสายส่งไฟฟ้าที่สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าหลากรูปแบบ รวมถึงมีรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงแบบต่าง ๆ และ
      • ทบทวนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิตในแผน PDP 2024 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา แบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net metering) สำหรับภาคครัวเรือน และเน็ตบิลลิง (Net Billing) สำหรับภาคธุรกิจ โดยสั่งการให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เร่งสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชน ครัวเรือน และ SME ในแบบที่ไม่มีการสร้างเงื่อนไขกีดกันโดยเร็ว เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าด้วยการพึ่งพาตนเอง และช่วยลดค่าไฟฟ้าส่วนรวมจากการลดการนำเข้าก๊าซหุงต้มที่มีต้นทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น