หยุดอุบัติเหตุซ้ำซาก! สภาผู้บริโภคเสนอยกเลิกรถทัวร์ 2 ชั้น จี้คมนาคมทบทวนมาตรการความปลอดภัย ย้ำ ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะต้องได้รับการชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม
จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารประจำทางสองชั้น (รถร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด) สายกรุงเทพ – นาทวี ของบริษัท ศรีสยามเดินรถเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ข้างทาง บริเวณริมถนนเพชรเกษม ช่วงหลัก กม.331 ในพื้นที่ ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 14 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมากนั้น
วันนี้ (5 ธันวาคม 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลในที่เกิดเหตุเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพร่างกายของผู้ขับรถที่อาจจะมีอาการหลับในหรือมีอาการวูบจนทำให้รถโดยสารเสียหลักและมีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คือเรื่องสภาพรถที่ต้องดูว่าพร้อมนำมาใช้งานหรือไม่และภายในรถมีเข็มขัดนิรภัยให้ผู้โดยสารหรือไม่ มีการตรวจสภาพครั้งล่าสุดเมื่อใด ซึ่งอุบัติเหตุในลักษณะนี้มักเกิดจากสาเหตุซ้ำซากที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ สำหรับอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้น พบปัญหาการจำหน่ายตั๋วที่ไม่ตรงกับรถที่วิ่งจริง โดยพบว่าตั๋วโดยสารที่จำหน่ายเป็นของบริษัทหนึ่ง และรถที่เกิดเหตุชื่อบริษัทข้างรถเป็นอีกบริษัทหนึ่งอีกด้วย
คงศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และทบทวนมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะให้กับผู้บริโภคโดยทันที โดยเฉพาะมาตรการกำกับคุณภาพคนขับรถโดยสารทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้นที่ต้องมีทักษะความชำนาญ และความปลอดภัยสูงกว่าปกติ และต้องประกาศให้สิทธิของผู้โดยสารที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน ส่วนกรณีทายาทของผู้เสียชีวิตควรได้รับสิทธิค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินจากประกันภัยภาคบังคับและประกันภาคสมัครใจ และต้องไม่ถูกตัดสินเรียกร้องค่าเสียหายอื่นเพิ่มเติมจากสัญญาประนีประนอมยอมความ
“อยากให้ทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยของโครงสร้างรถโดยสารสองชั้นที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมต่อการให้บริการและความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ โดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือตรวจสอบได้เลยว่ารถโดยสารสองชั้นคันดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วกี่ปี ผ่านการตรวจสภาพรถประจำปีเมื่อไหร่ มีประกันภาคบังคับ – ภาคสมัครใจ และผ่านการทดสอบความลาดเอียงมาแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา” คงศักดิ์ระบุ
สำหรับผู้ผู้บริโภคที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 การเรียกค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
1. ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริง ให้โรงพยาบาล ไม่เกิน 80,000 บาท
2. ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/คน
3. สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 200,000 – 500,000 บาท/คน
4. ค่าชดเชยรายวัน จ่ายให้ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
ส่วนที่ 2 การเรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เกินวงเงินของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
(สำหรับกรณีเสียชีวิต ขั้นต่ำรายละ 500,000 บาท) **รายละเอียดขึ้นกับกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่ทำเอาไว้
1. ค่าทนทุกข์ทรมาน จากการบาดเจ็บ
2. ทรัพย์สินที่เสียหาย หรือสูญหายในขณะเกิดอุบัติเหตุ
3. ค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ -ค่าขาดรายได้ เป็นต้น
หากผู้บริโภคผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะและได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ให้บริการ บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ที่ โทรศัพท์ 032 908 288/061 436 5554 หรือไลน์ ออฟฟิเชียล (Line OA) : TCC032 หรือ Facebook : หน่วยประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค
หรือร้องเรียนออนไลน์กับสภาผู้บริโภคส่วนกลาง ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล : [email protected] หรือโทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1