สภาผู้บริโภค เสนอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งหาทางลดดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน – คอนโดเพื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเจ้าของ “บ้านหลังแรก” พร้อมเสนอสคบ. ดูแลเงื่อนไขในข้อสัญญาให้เป็นธรรม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
จากกรณีที่มีผู้บริโภครายหนึ่ง ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์เกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยบ้าน โดยยกกรณีการผ่อนบ้านราคา 13 ล้านบาท แต่เมื่อผ่อนไปแล้วประมาณ 4 ปี ยังเหลือหนี้อีอกประมาณ 10 ล้านบาท พร้อมระบุว่า จำนวนเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือนคือ 71,900 บาท เงินต้น 27,256 บาทและดอกเบี้ย 44,643 บาท นั่นแปลว่าใน 1 ปีต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 535,716 บาท และตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่งจ่ายเงินต้นเพียง 327,072 เท่านั้น พร้อมตั้งคำถามว่าการกำหนดอันตราดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันสูงเกินไปหรือไม่ และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินสมควรหรือไม่ นั้น (อ่านข้อความต้นฉบับได้ที่ : https://twitter.com/pokpong_pp/status/1672176997118906368?t=JICqeUZXdQEaXmaX2O_FdQ&s=06)
วันนี้ (5 กรกฎาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่ผู้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านและคอนโด ต้องเผชิญในปัจจุบัน มีประเด็นสำคัญ คือ การคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และ การกำหนดเงื่อนไขในข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
สำหรับเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม สารีอธิบายว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปคิด มีความแตกต่างถึงร้อยละ 5 – 6 ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรได้มาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหากธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงบ้างก็ยังคงรักษากำไรได้อยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยผู้กู้จำนวนมากให้พ้นภาระหนี้สินได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หากพิจารณาดูระบบการคิดดอกเบี้ยจะพบว่า ดอกเบี้ยเงินกู้หรือเอ็มอาร์อาร์ (MRR : Minimum Retail Rate) เป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ซึ่งปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 6.65 – 7.32 ต่อปี (ยกเว้นปีที่ 1 – 3 ของการกู้เงิน) ในทางกลับกัน หากผู้บริโภคนำเงินไปเงินไปฝากออมทรัพย์กับธนาคารเดียวกันกลับได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อปี นั่นแปลว่ามีความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ถึงร้อยละ 5 – 6
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งในประเทศไทย พบว่าไตรมาส 1 ของปี 2566 มีกำไรกว่า 60,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.52 ของภาพรวมปี 2565 จึงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อีกทั้งเมื่อศึกษาข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าธนาคารในประเทศออสเตรเลีย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แตกต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากเพียงร้อยละ 1 ขณะที่ในประเทศอังกฤษมีความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น และธนาคารเหล่านั้นยังคงมีเสถียรภาพอยู่ได้
ส่วนเรื่องการขยายระยะเวลาที่ผู้บริโภคสามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จาก 3 ปี เป็น 5 – 7 ปีนั้น อาจเป็นเงื่อนไขที่พิจารณาสำหรับผู้ที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในระยะเวลาที่ยาวขึ้น และเป็นการลดภาระผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการรีไฟแนนซ์กรณีที่ผ่อนอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากปัจจุบันมีกรณีที่ผู้บริโภคต้องผ่อนบ้านหรือคอนโด 30 – 40 ปี
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งสารีอธิบายว่า ในการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน คอนโด หรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ แต่ละครั้ง ธนาคารจะระบุเงื่อนไขระยะเวลาว่าผู้บริโภคไม่สามารถปิดบัญชีชำระหนี้ก่อน 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี แต่กลับกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราต่ำเพียง 1 – 3 ปีแรกเท่านั้น โดยหากผู้บริโภคปิดบัญชีชำระหนี้ก่อนจะต้องเสียเบี้ยปรับ และบางกรณีจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยย้อนหลังตั้งแต่วันทำสัญญา
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมองว่า หากมีการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้บริโภคไม่สามารถปิดบัญชีชำระหนี้ก่อน 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี นั้น กรณีที่ผู้บริโภคต้องการขอชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี หรือที่เรียกว่า “โปะบ้าน” สถาบันการเงินควรมีสิทธิ์เรียกเก็บดอกเบี้ยโดยคำนวณจากจำนวนเงินต้นที่คงเหลือเท่านั้น ไม่ใช่คำนวณจากยอดเงินกู้ทั้งหมดอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ เช่น กู้ 1,000,000 บาท ผ่อนไปแล้ว 500,000 บาท เหลืออีก 500,000 บาท ก็คำนวณดอกเบี้ยจากจำนวนดังกล่าว
“อยากให้ธปท. และธนาคารต่าง ๆ คำนึงถึงภาระของผู้บริโภคด้วย เพราะหากกำหนดดอกเบี้ยสูงเกินไปจนกระทั่งผู้บริโภคจ่ายไม่ไหว อาจส่งผลให้เกิดหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล NPL (Non-Performing Loan) ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศด้วย” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนี้
- ขอให้ ธปท. กำกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านคอนโดให้ลดลงจากปัจจุบัน โดยการกำกับอัตราดอกเบี้ยอาจพิจารณาจากใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเกณฑ์ เช่น ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2 เมื่อคำนวณค่าใช่จ่ายอื่น ๆ ที่ธนาคารคารต้องรับผิดชอบแล้ว ธปท. เห็นสมควรให้สถาบันการเงินเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 1 หรือ 2 จากดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น
- ขอให้ ธปท. ออกมาตรการกำหนดให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาที่ผู้บริโภคสามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จาก 3 ปี เป็น 5 – 7 ปี สำหรับการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกเพื่อเพิ่มระยะเวลาที่ผู้บริโภคสามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเป็นการลดภาระผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการรีไฟแนนซ์กรณีที่ผ่อนอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลานาน
- ขอให้ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินส่งคู่ฉบับสัญญาให้ผู้บริโภคได้อ่านล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนวันลงนามในสัญญา เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสศึกษารายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างถี่ถ้วน นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องคำนวณและแจ้งยอดเงินทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้ธนาคารตลอดระยะเวลาสัญญาให้ผู้บริโภคทราบด้วย เช่น ซื้อบ้านราคา 3.8 ล้าน หากผ่อน 30 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 จะต้องเสียจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคาร รวม 8 ล้านบาท เป็นต้น
- ขอให้ สคบ. กำกับดูแลเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่ผู้บริโภคต้องการขอชำระเงินกู้ทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี โดยไม่ผ่อนชำระเงินกู้เป็นรายงวดตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยโดยคำนวณจากจำนวนเงินต้นที่คงเหลือเท่านั้น ไม่ควรคำนวณจากยอดเงินกู้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565
ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่กำลังจะยื่นกู้ หรือกำลังผ่อนบ้านอยู่
เมื่อผู้กู้ยื่นกู้ ธนาคารมักจะมีข้อเสนอให้ขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 1 – 3 ปีแรก ดังนั้นเมื่อครบระยะเวลา 3 ปี สภาผู้บริโภคแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกดำเนินการตามนี้
1) เลือกยื่นกู้กับธนาคารใหม่ หรือรีไฟแนนซ์ (Refinance) เพื่อรับโปรโมชันดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า แต่การรีไฟแนนซ์จะมีข้อเสียคือผู้ยื่นกู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น จดจำนอง ค่าโอน ค่ายื่นเอกสาร เหมือนเป็นการยื่นกู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง หรือ
2) ขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม หรือรีเทนชั่น (Retention) เป็นการเจรจาลดดอกเบี้ยลง จากอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ที่ธนาคารกำหนด โดยส่วนมากอาจจะได้ส่วนลดดอกเบี้ยน้อยกว่าการรีไฟแนนซ์ แต่มีข้อดีคือผู้ยื่นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในการดำเนินการเหมือนรีไฟแนนซ์
ทั้งนี้ ก่อนเลือกรีไฟแนนซ์ หรือรีเทนชั่น ผู้บริโภคควรสำรวจและเปรียบเทียบดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร รวมทั้งต้อง เปรียบเทียบระหว่างค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายกับดอกเบี้ยที่ลดลง เพื่อช่ายลดภาระค่าใช่จ่ายที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในแต่ละเดือน