สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับคณะตัวแทนคนพิการ แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน และแนวทางการจัดตั้งสภาคนพิการ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับคณะตัวแทนคนพิการ จากสมาคมคนพิการ 7 ประเภท อาทิ สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมออทิสติกสามัคคีไทย ร่วมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตั้งสภาผู้บริโภคเพื่อเป็นแนวทางการจัดตั้งสภาคนพิการ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค แนะนำเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่สร้างผลกระทบร่วมกัน รวมถึงการวางโครงสร้างการบริหารงาน การจัดการระบบการทำงานภายในสำนักงาน การจัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงประสบการณ์การผลักดันเพื่อให้เกิดสภาผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาผู้บริโภคได้เล่าถึงภาพรวมบทบาทหน้าที่ ของสภาผู้บริโภคกับการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน ช่วยเหลือผู้บริโภค การเสนอแนะข้อคิดเห็นและจัดทำนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน รวมถึงการผลักดันเรื่องสิทธิของผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยยกตัวอย่างกรณีไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน ซึ่งสภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้สถาบันการบินพลเรือน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการปัญหาเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม และกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับคนพิการอย่างเท่าเทียม

สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการ จำนวน 2.3 ล้านคน และมีประเด็นปัญหา เช่น ความต้องการจ้างงานคนพิการซึ่งผู้ประกอบการเลือกนำส่งเงินสมทบกองทุนเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าไปทำงาน เรื่องสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมของคนพิการ การผลักดันบริการขนส่งสำหรับคนพิการ เป็นต้น ซึ่งสมาคมฯ ได้ต่อสู้เรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด

จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับสภาผู้บริโภค นับเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การตั้งเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน กำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม รวมถึงการติดตามการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และสามารถตรวจสอบได้  สำหรับในโอกาสต่อไปหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการร่วมมือจากสภาผู้บริโภคเพื่อร่วมกันพัฒนางานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้พิการที่เข้าร่วมประชุม ที่ระบุว่า เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานองผู้พิการ เช่น การมีทางลาดตรงฟุตปาธ ห้องน้ำคนพิการ หรือ ทางเดินเท้าสำหรับคนตาบอด (เบรลล์บล็อก: Braille Block)  ไม่ใช่สิ่งที่คนพิการต้องเรียกร้องหรือร้องขอ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลจัดการ

“สิ่งที่คนพิการต้องการไม่ใช่สิทธิเหนือคนอื่น แต่เป็นสิทธิที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าไปนั่งในใจคนพิการ แต่ต้องทำให้เรารับรู้และรู้สึกว่าได้ว่าคุณคือพื้นที่ปลออดภัยสำหรับเรา”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค