สภาผู้บริโภค เสนอคมนาคมซื้อรถสองชั้นคืน เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงการตรวจสอบข้อมูลรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถทัวร์) จำกัดเส้นทางวิ่ง และพัฒนาระบบจีพีเอสรถโดยสารแบบเรียลไทม์ทุกคัน หวังแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถทัวร์สองชั้น
จากกรณีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เกิดเหตุการณ์รถโดยสารสองชั้นเสียหลักพลิกคว่ำพุ่งแหกโค้งทางลงเนินเขาตับเต่า (โค้งร้อยศพ) อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก นั้น (อ่านข่าวได้ที่ : https://www.mumkhao.com/view-22686.html)
วันนี้ (5 มิถุนายน 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า กรณีอุบัติเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญสามส่วนประกอบกัน คือ ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นในการวิ่งบนเส้นทางเสี่ยง พนักงานขับรถที่ไม่ชินเส้นทางและพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงข้อจำกัดทางวิศวกรรมจราจร สภาพถนนที่เป็นจุดเสี่ยง ลาดชันอันตราย ทั้งนี้ จากสามปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ปัจจัยที่เกิดจากยานพาหนะเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมและป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อป้องกันความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถโดยสารที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
คงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังมีรถโดยสารสองชั้น หรือ รถมาตรฐาน 4 จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 6,776 คัน แบ่งเป็นกลุ่มรถโดยสารประจำทาง 1,508 คัน และกลุ่มรถโดยสารไม่ประจำทาง (เช่าเหมารถทัศนาจร – ทัศนศึกษา) 5,197 คัน แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีคำสั่งยกเลิกจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นตั้งแต่ปี 2559 จากสาเหตุความไม่เหมาะในการใช้โดยสารในเส้นทางเสี่ยงลาดชัน ซึ่งรถโดยสารสองชั้นจะมีความเสี่ยงที่จุดศูนย์ถ่วงของรถ มีโอกาสพลิกคว่ำได้ง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ โดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือตรวจสอบได้เลยว่ารถโดยสารสองชั้นคันดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วกี่ปี ผ่านการตรวจสภาพรถประจำปีเมื่อไหร่ มีประกันภาคบังคับ – ภาคสมัครใจ และผ่านการทดสอบความลาดเอียงมาแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของการกำหนดอายุรถโดยสาร โครงสร้างและอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะความชัดเจนในเรื่องการมีอยู่ของรถโดยสารสองชั้นที่มีข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดแล้วว่า สภาพของยานพาหนะไม่เหมาะสำหรับการให้บริการรับส่งคนโดยสาร
สภาผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัยต่อกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กำหนดนโยบายซื้อรถโดยสารสองชั้นคืนจากผู้ประกอบการ กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และสนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนการให้บริการสู่รถโดยสารชั้นเดียว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
- เปิดช่องทางตรวจสอบข้อมูลรถโดยสารไม่ประจำทาง เช่น ข้อมูลการจดทะเบียน ข้อมูลการตรวจสภาพรถ ข้อมูลการตรวจสอบความลาดเอียง ช้อมูลการจัดทำประกันภัย ตลอดจนข้อมูลอื่น ที่เกี่ยวข้องผ่านแอปพลิเคชันที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวก เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภค
- กำหนดมาตรการควบคุมเส้นทางบริการรถโดยสารสองชั้นประเภทไม่ประจำทาง โดยไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งเดินรถในเส้นทางที่มีพื้นที่ลาดชันอันตราย และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค
- ขอให้มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านระบบช่วยระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) ในรถโดยสารสาธารณะ โดยเมื่อพบว่ามีการขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดได้ทันที และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการควบคุมควรเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลในหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้น
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค