ศาลอุทธรณ์ รับคดี ‘มาสด้า CX-5 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม หลังผู้เสียหายร้องเครื่องยนต์มีปัญหา ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุ การรับเป็นคดีกลุ่มทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเท่าเทียม
จากกรณี เมื่อปี 2562 ตัวแทนผู้ซื้อรถยนต์มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 (Mazda CX – 5) รุ่นสกายแอคทีฟ (Skyactiv) เครื่องยนต์ดีเซล ยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มต่อบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีขายรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐาน โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2563 แต่ทางบริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์นั้น
วันนี้ (5 เมษายน 2565) ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สอบ.ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว โดยการฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าวมีข้อดี คือ ทำให้ผู้เสียหายจากการซื้อหรือใช้งานรถยนต์มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 รายอื่นที่ไม่ใช่โจทก์ สามารถเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อร่วมฟ้องคดีได้ และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกทั้งหมดจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน
ภัทรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีคำสั่งรับเป็นคดีกลุ่มแล้ว ศาลจะออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อหรือใช้รถยนต์มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ หากศาลออกประกาศและมีรายละเอียดเงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว สอบ.จะประชาสัมพันธ์และแจ้งให้ผู้บริโภคทราบโดยเร็ว
สำหรับเหตุผลที่ศาลรับเป็นคดีกลุ่ม เนื่องจากมองว่า แม้ลักษณะของความเสียหายของผู้เสียหายแต่ละรายจะแตกต่างกัน แต่มีลักษณะอาการสำคัญที่ตรงกัน ซึ่งเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการผลิต ถือเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 นอกจากนี้ หากดำเนินคดีแบบปกติจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก เพราะจะมีปริมาณคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ผลคำพิพากษาในแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน จึงเห็นว่าการรับเป็นคดีแบบกลุ่มจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั่วไปด้วย
เอก ชัยวงษ์วิบูล ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 เล่าว่า กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวกันตั้งแต่ประมาณปี 2561 โดยเริ่มจากมีคนโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กผู้ใช้มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 ว่า ประสบปัญหา “น้ำดัน” คือ น้ำจากระบบหล่อเย็นรั่วออกมาตรงบริเวณเครื่องยนต์ และปรากฏว่ามีสมาชิกในกลุ่มจำนวนมากกว่า 1,000 ราย ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่ใช้งานรถยนต์เพียง 60,000 – 100,000 กิโลเมตรเท่านั้น
“สิ่งที่อันตรายคือ อาการน้ำดันเกิดขึ้นตรงบริเวณเครื่องยนต์ นั่นแปลว่า ในขณะขับขี่ ผู้ใช้รถจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น และหากขับรถระยะทางไกล น้ำในระบบหล่อเย็นอาจถูกดันออกมาจนหมด ทำให้เครื่องยนต์มีความร้อนสูงและเครื่องดับ ไม่สามารถควบคุมรถได้ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้” ผู้เสียหาย กล่าว
เอก ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ศาลมีคำสั่งรับเป็นคดีกลุ่ม เนื่องจากมีผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์รุ่นดังกล่าวจำนวนมาก และคาดหวังให้บริษัทฯ ซื้อรถคืน จ่ายเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อมเป็นรายวัน รวมถึงจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ 2 เท่าจากค่าเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นไปตามคำร้องที่ได้ยื่นไป ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
เอก กล่าวทิ้งท้ายว่า จากข้อมูลที่เห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กผู้ใช้มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 พบว่า มีผู้ใช้มาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 โมเดลปี 2017 – 2018 ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ทำให้คิดได้ว่าเครื่องยนต์ของมาสด้าซีเอ็กซ์ – 5 แบบดีเซลนั้นอาจจะมีปัญหา จึงต้องการเรียกร้องให้บริษัทมาสด้า ตรวจสอบเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว และหากพบว่ามีปัญหาควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการเรียกคืน (Recall) รถยนต์รุ่นดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย