รู้ยัง.. กรุงเทพฯ มีการระบายสีผังเมือง เพื่อแบ่งโซนบ้าน คอนโด โรงงาน ฯลฯ ด้วยนะ

การกำหนดสีของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า “ผังสีกรุงเทพฯ” คือ แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินนั้น ๆ ว่าสามารถพัฒนาโครงการประเภทใดได้บ้าง โดยแบ่งทำเลเป็นสีต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเช่น โซนเกษตรกรรม, โซนที่อยู่อาศัย, โซนพาณิชยกรรม เป็นต้น

สภาผู้บริโภคจะพามาดูว่าผังสีที่ใช้ ในผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2556 นั้น มีอะไรบ้าง เพื่อที่เราทุกคนจะได้รู้ว่าพื้นที่บ้านเราอยู่นั้นกำลังจะถูกนำไปใช้พัฒนาแบบใด

ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2556 ผังสีที่ใช้ มีดังนี้

สีเหลือง : ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

จะเป็นพื้นที่บริเวณชานเมือง ซึ่งมีทั้งโซนที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัย บริเวณที่อยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน รวมถึงพื้นที่ที่จะต้องส่งเสริมหรือดำรงรักษาการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมดี

สีส้ม : ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน โดยแบ่งเป็นโซนที่รองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัย ศูนย์ชุมชนชานเมือง รวมทั้งเขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม และยังมีการระบายสีพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนด้วย

สีน้ำตาล : ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก

คือโซนเขตเมืองชั้นใน จะมีข้อกำหนดเรื่องการส่งเสริมและดำรงรักษาทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ รวมถึงการระบายสีพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยในกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองและเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน

สีแดง : ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม อยู่บริเวณชานเมือง เน้นธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ มีข้อจำกัดในการสร้างที่อยู่อาศัยน้อยกว่าสีอื่น

เนื่องจากกำหนดให้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์พาณิชย์กรรมของชุมชน เพื่อกระจายกิจกรรมการค้าและการบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมือง เพื่อส่งเสริมหรือรองรับความเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการให้บริการแก้ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งงานของประชาชน โดยจะมีทั้งส่วนที่อยู่ในและนอกเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน อีกทั้งยังมีบ้างพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการ และการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

สีม่วง : ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม

เป็นเขตการบริหารและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการประกอบกิจกรรมประเภทอุตสาหกรรมการผลิตและกิจกรรมประเภทอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมลพิษน้อย

สีม่วงเม็ดมะปราง : ที่ดินประเภทคลังสินค้า

ใช้เป็นคลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว : ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

มีเป้าหมายเพื่อการสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกตรกรรม ทั้งพื้นที่ทั่ว ๆ ไป และบริเวณที่มีข้อจำกัดด้านการระบายน้ำและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย รวมไปถึงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งทะเล

สีเขียว : ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

กำหนดให้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม การสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติ และการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร อีกทั้ง เพื่อเป็นชุมชนและศูนย์กลางการให้บริการทางสังคมและการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ชนบทและการเกษตร

สีน้ำตาลอ่อน : ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมกิจกรรมด้านพาณิชยกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

สีน้ำเงิน : ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

มีเพื่อเป็นสถาบันราชการและการดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวกับการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์


สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าบ้านหรือที่ดินของเรา ถูกแบ่งเป็นสีอะไรตามร่างผังเมือง กทม. ฉบับล่าสุด (ปรับปรุงครั้งที่ 4) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

ส่วนผู้บริโภคที่ได้เห็นการระบายสี วางผังเมืองในครั้งนี้แล้ว สามารถร่วมแสดงความเห็น เพื่อให้เสียงสะท้อนของเรามีผลในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ร่วมแสดงความเห็นได้ตามช่องทางดังนี้

  • ด้วยตนเองหรือไปรษณีย์ ที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
  • ช่องทางออนไลน์

– เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/

– เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ https://webportal.bangkok.go.th/

– เว็บไซต์โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ http://plan4bangkok.com/

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค