ศาลสั่งศุภาลัย ชดเชยผู้บริโภค 6.2 ล. หลังเกิดปัญหาบ้านชำรุด พื้นทรุด

ศาลสั่งศุภาลัย ชดเชยผู้บริโภค 6.2 ล. หลังเกิดปัญหาบ้านชำรุด พื้นทรุด

ศาลชั้นต้นสั่งศุภาลัย จ่ายเงินชดเชยให้ผู้บริโภค 6.2 ล้านบาท หลังสภาผู้บริโภคฟ้อง เหตุบ้านทรุด สร้างบ้านไม่เป็นไปตามแบบ/สัญญา สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค

วันที่ 4 กันยายน 2567 โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปี 2566 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค จำนวน 12 ราย กรณีโครงการบ้านจัดสรร “ศุภาลัย เบลล่า วงแหวน – พระราม2” การก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลน ใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาบ้านชำรุดบกพร่อง พื้นทรุด ได้รับความเสียหาย สภาผู้บริโภคจึงรวบรวมข้อมูลหลักฐานและฟ้องคดี บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) แทนผู้บริโภคตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้พิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้บริโภคทั้ง 12 ราย เป็นมูลค่ารวม 6,208,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ของเงินที่ได้รับ นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตก หรือช่วงน้ำทะเลหนุนบนถนนหน้าบ้านของผู้บริโภคทั้ง 12 ให้เสร็จ

โสภณ หนูรัตน์

เนื่องจากศาลพิจารณาหลักฐานข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า บริษัทปรับระดับพื้นดินภายในโครงการ รวมถึงพื้นดินบริเวณบ้านของผู้บริโภคต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการ และก่อสร้างบ้านโดยมีระดับพื้นบ้าน ลานจอดรถ ระดับดินถมบ้าน และระดับชั้น 1 ของบ้านต่ำกว่าแบบก่อสร้างที่ได้ขอและรับอนุญาตจัดสรร ถือว่าการส่งมอบบ้านและที่ดินไม่เป็นไปตามสัญญาหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดินที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินสมุทรสาครได้อนุญาต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของบริษัทแล้ว ไม่ได้มีพฤติการณ์ชัดเจนว่าบริษัทฯ มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค จึงไม่ได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการให้แก่สภาผู้บริโภค ในอัตราร้อยละ 25 ของค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่ผู้บริโภค หรือคิดเป็นเงินจำนวน 1,552,000 บาท

โสภณ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้บริษัทฯ มีระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 1 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด หรืออาจมีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีก หากบริษัทฯ ไม่ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลก็จะถือเป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่ถูกระบุในคำพิพากษาดังกล่าว จะส่งผลไปยังบ้านที่ยังไม่ได้ฟ้องคดี ดังนั้นหากจะฟ้องคดีสำหรับผู้บริโภครายอื่น ๆ ที่เกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันและยังไม่ได้ฟ้องร้อง ก็จะอาศัยคำพิพากษาในคดีนี้เป็นแนวทางได้ แต่ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความไม่เกิน 10 ปี ตามกฎหมายต่อไป