สภาองค์กรของผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ สสส. สำรวจ ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลก พบปัญหาเพียบ ตั้งแต่รถน้อย รอนาน ราคาแพง ไม่มีสถานีขนส่งประจำจังหวัด เสนอเร่งเร่งวางแผนพัฒนาโดยดึงประชาชนเข้ามาร่วม เชื่อม ล้อ เรือ ราง ให้เป็นระบบเดียวกัน
ปัญหาการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ราคาเป็นธรรมยังเป็นประเด็นในเมืองขนาดใหญ่โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้จะเป็นเมืองมรดก แต่พบว่าการจัดการระบบขนส่งสาธารณะยังไม่เพียงพอ สะท้อนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม จึงร่วมกันจัดเวทีแนวทางความร่วมมือการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะและการพัฒนาระบบขนขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมของผู้บริโภค
รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริการศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดข้อมูลทิศทางการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางสู่พื้นที่เกาะเมืองอยุธยา พบว่า ระบบการขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่เกาะเมือง จังหวัดอยุธยายังไม่ครอบคลุมและยังไม่เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งมวลชนภายนอก อย่างเช่น สถานีรถไฟที่ยังไม่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ จุดบริการขนส่งสาธารณะยังขาดการจัดระเบียบจราจรจนทำให้เกิดปัญหารถติด
อีกทั้งจุดติดตั้งป้ายรถเมลก็ไม่ชัดเจนและมีความหลากหลายมากเกินไป นอกจากนี้การสัญจรบริเวณหน้าโรงเรียนก็มีความแออัดมาก ขณะที่ รถสองแถว มีป้ายรถโดยสารสังเกตได้ยาก จุดพักและรับผู้โดยสารไม่ครอบคลุม บางจุดไม่สามารถนั่งพักได้ เนื่องจากรกร้าง คนพิการและผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงได้เลย และสภาพรถบางคันชำรุดไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน
ส่วนรถตู้และมินิบัสไม่มีสถานีชัดเจน มีจุดจอดรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากยังไม่มีสถานีขนส่งหลักประจำจังหวัด บางจุดที่รอไม่มีที่พักคอย ต้องนั่งบริเวณใกล้เคียง ขณะที่มีปัญหาการจราจรที่ติดขัดในบางช่วง เนื่องจากไม่มีการควบคุมจราจรที่เข้มงวดและมีการปิดถนน/สะพานบางช่วง ทำให้อาจเกิดความสับสนในการเข้าถึง บางพื้นที่
รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการรถขนส่งมวลชนสาธารณะ พบปัญหารถโดยสารมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอ รอนาน และมี ราคาแพง ขณะที่สถานที่ (ทางเท้า ถนน สถานี) ไม่มีคุณภาพ/ไม่ปลอดภัย และ ยานพาหนะไม่มีคุณภาพ/ไม่ปลอดภัย
ด้านกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวยอมรับว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะ ไม่เนื่องจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทำให้การวางแผนรองรับไม่เพียงพอ จึงจะต้องมีการออกแบบระบบและเตรียมการในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะของพระนครศรีอยุธยาโดยเฉพาะในเขตเมืองมรดกโลก
“ต้องยอมรับว่าคนที่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองหรือนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 80 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ทำให้มีปัญหารถติดมาก เพราะฉะนั้นต้องมีการวางแผน เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยใช้โครงข่ายการขนส่งสาธารณะ อย่างเช่น รถไฟซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”กกชัยกล่าว
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่เมืองมรดกโลกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งทางบกและทางน้ำต้องเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทางสภาผู้บริโภคกำลังผลักดันร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี
นอกจากนี้ควรจะพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น ควรมีจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ห่างจากบ้านเรือนของประชาชนเพียง 500 เมตร หรือรถสองแถวติดแอร์หรือมินิบัส โดยมีราคาค่าโดยสารไม่ควรเกินกว่า 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้จัดการรับฟังความคิดเห็นและสำรวจเส้นทางขนส่งสาธารณะ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ระบบขนส่งมวลชนสาธารระในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีปัญหาการเชื่อมต่อระบบ รถ รางเรือ ไม่มีสถานีขนส่งประจำจังหวัด และมีปัญหารถให้บริการไม่เพียงพอ โดยเสนอแนวทางแก้ไขดังนี้
1.การผลักดันนโยบาย และขับเคลื่อนกลไก การมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน การพัฒนาด้านกายภาพ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ที่มีการเข้าถึงและเชื่อมต่อที่ทั่วถึง
2.มีเจ้าภาพ โดยตั้งคณะทำงานจังหวัด โดยมีการกำหนดองค์ประกอบอย่างชัดเจน ต้องเพิ่มตัวแทนจากประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปให้ความเห็นในที่ประชุม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่เกิดจากประชาชน
3 กระจายอำนาจในการจัดการปัญหาขนส่งมวลชนสาธารณะเนื่องจากท้องถิ่นไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที
สำหรับภาคีเครือข่ายที่ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นแนวทางความร่วมมือการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะกับการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวมรดกโลกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล กรมขนส่งทางบก ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ,ขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอยุธยา ,ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) สมาคมองค์กรชุมชนสภาองค์กรชุมชนจังหวัด