“รู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภค…เพื่อนของผู้บริโภค” งานเปิดตัวสภาผู้บริโภค ครั้งแรกในเขตภาคเหนือตอนล่าง ตั้งเป้าสร้างความเข้มแข็ง – ขยายฐาน – ยกระดับการคุ้มครอง
วันที่ 1 กันยายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “รู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภค…เพื่อนของผู้บริโภค” ขึ้น ณ ห้องประชุม โรงแรมแกรนด์ ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทำให้หน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้รู้จักและเข้าใจบทบาทการทำงานของสภาผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการพัฒนาความร่วมมือและความเป็นไปได้ในการจดแจ้งองค์กรของผู้บริโภคกับองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
โดยมีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้สูงอายุ เข้าร่วมประชุมด้วย
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภค เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน มีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เช่น คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญก็คือการสนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มี ประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ
ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก 307 องค์กรใน 42 จังหวัด อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคยังไม่มีองค์กรสมาชิกในเขตภาคเหนือตอนล่าง จึงคาดหวังว่าการจัดประชุมครั้งนี้ จะทำให้เครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน มีความเข้าใจในการทำงานสภาผู้บริโภคและเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็ง มีการขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม และเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ และภายใต้ระบบการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคยังดูเหมือนเป็นปัญหาส่วนบุคคล หากมองและแก้ปัญหานี้ในระดับบุคคล ผู้บริโภคหนึ่งคนก็ยากที่จะมีทุนทรัพย์หรือกำลังในการเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้บริโภคอีกหลายประการที่อาจอยู่นอกเหนือขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะดูแลได้ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือการปรับอัตราค่าทางด่วน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น หรืออยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน
การจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่ามีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเครือข่ายที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมาจากจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดชัยนาท จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งนี้คาดหวังว่าประชุมร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อธิบายว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ สปน. ทำหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค โดยภาพรวมการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรฯ ในปัจจุบันมีจำนวนองค์กรที่ผ่านการจดแจ้งทั้งสิ้น 330 องค์กร แบ่งเป็นภาคเหนือจำนวน 102 องค์กร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 85 องค์กร ภาคตะวันออก จำนวน 25 องค์กร ภาคกลาง จำนวน 45 องค์กร กรุงเทพมหานครจำนวน 33 องค์กร และภาคใต้จำนวน 40 องค์กร
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ สปน. มี 4 ข้อดังนี้ 1) กำลังพัฒนาระบบเว็บไซต์ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกในการการรับแจ้งสถานะ ตรวจสอบ การประชาสัมพันธ์ 2) จัดประชุมหารือแลกเปลี่ยนการดำเนินงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภคทุกไตรมาส เพื่อประสานความร่วมมือ หารือเยวกับการเสนอขอรับงบประมาณ รวมถึงการจัดทำรายงานประจำปี 3) รวบรวมศึกษาวิเคราะห์ ปัญหาอุปสรรคการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 และ 4) การทำข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย และใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วประเทศคือเรื่องการซื้อขายออนไลน์ รวมถึงการฉ้อโกงออนไลน์ ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันโดยจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายจากปัญหาหารหลอกลวง โกงออนไลน์มากกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ทำข้อเสนอถึงหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องควบคุมหลักเกณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศให้มีจำนวนเงินขั้นต่ำ เสนอให้กระทรวงดีอีจัดตั้งศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.) เป็นต้น
อีกทั้งสภาผู้บริโภคยังทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการขนส่งและยานพาหนะที่มีข้อเสนอไปถึงให้รถจักรยานยนต์ทุกคันติดเบรก ABS รวมไปถึงการติดตามเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า มีสภาผูบริโภคพยายามเรียกร้องให้มีอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม เพื่อให้รถไฟฟ้าเป็น “บริการขนส่งมวลชน” อย่างแท้จริง ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้หากได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคก็จะช่วยให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากการพัฒนา เสนอแนะ และผลักดันนโยบายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว สภาผู้บริโภคยังมีบทบาทในการการสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงพัฒนากลไกสภาองค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัดอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน” ซึ่งมีทั้งหน่วยงานรับจดแจ้งอย่าง สปน. หน่วยงานรัฐ ตัวแทนภาคเอกชน รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภคร่วมเสวนาด้วย โดยในเวทีมีการเปลี่ยนเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค อำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งมีการสะท้อนปัญหา และแนวทางปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้น