การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพคือความสำเร็จของ สปสช. ที่ทัวโลกยกย่อง

คณะเศรษฐศาสตร์มธ. จับมือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดวงเสวนาวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิทยากรเห็นพ้อง‘การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์’ คือ หนึ่งในกลไกสำคัญของ สปสช. ที่ทั่วโลกยอมรับและยกย่อง ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ของประเทศไทย

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ School of Public Health มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ “The Successes of Strategic Purchasing for UHC in Thailand” หรือ “ความสำเร็จของการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้สนใจในระดับภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เส้นทางการขับเคลื่อนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health Coverage (UHC) ในประเทศไทยนั้น ได้ถูกขับเคลื่อนโดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ โดยใช้ความพยายามอย่างเต็มกำลัง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การนำวิธี “การจัดซื้อในลักษณะเชิงกลยุทธ์” หรือ “Strategic Purchasing” ซึ่งเป็นวิธีการจัดสรรทรัพยากรของระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข และบรรลุเป้าหมายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ จนทำให้กระบวนการของ สปสช. กลายเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก

ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ  กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงประมาณปี 2533 มีการศึกษาเกี่ยวกับการเงินสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ผลการศึกษาสรุปว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ครัวเรือนต้องจ่ายเองสูงเกินไป รัฐบาลจึงพยายามพัฒนาความคุ้มครองสุขภาพสำหรับทุกคน ทำให้ต้องมีงบประมาณสำหรับเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น และได้ปรับปรุงระบบการจ่ายเงินที่ค่อนข้างประจัดกระจายเรื่อยมา จนในที่สุดได้กลายเป็นวิธี “การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์” ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 1) การจัดซื้อแบบเหมาจ่ายรายหัว (capitation) สำหรับบริการผู้ป่วยนอก 2) การเหมาจ่ายตามกลุ่มโรคด้วยราคากลาง (diagnosis-related group: DRG) สำหรับบริการผู้ป่วยใน และ 3) การจ่ายตามบริการที่ให้ (fee for service) สำหรับการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น ผู้บริโภคในประเทศไทยเคยประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีหลายครัวเรือนที่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล จึงได้มีการเคลื่อนไหว ต่อสู้ และผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนสำเร็จเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นการประกันความยั่งยืนของระบบ ตั้งแต่นั้นมา จึงได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคนักวิชาการ ภาคนโยบาย องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) และภาคีเครือข่ายประชาชน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

ส่วน ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการเงินสุขภาพ ได้แก่ การวิเคราะห์ต้นทุนของโรงพยาบาล และระบบทะเบียนข้อมูลที่อ้างอิงจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งยังมีการลงทุนในงานวิจัยที่จะส่งผลต่อการพัฒนากลไกและเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ โดยปัจจุบัน มองว่า สปสช. พยายามใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงพัฒนากลไกการชำระเงินให้ดียิ่งขึ้น

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า สปสช. พยายามที่จะพัฒนาเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณจำกัดแต่มีประสิทธิภาพ โดย สปสช. มีกลไกการจัดเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลจะนำส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้สามารถมีข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีรูปแบบของการกระจายความเสี่ยงหรือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและส่งเสริมป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิสำหรับผู้ป่วย ที่จะช่วยคัดกรองเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการระดับสูง ในแต่ละภูมิภาคจะมีโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง และยังสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย โดยหน่วยการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิยังทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยกันดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น ทั้งนี้ สปสช. ได้พัฒนา รวบรวม และใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อตรวจสอบและสามารถสะท้อนต้นทุนและการเบิกจ่ายเงินของ สปสช.

สำหรับความคิดเห็นโดยสรุปของที่ประชุม มองว่า ปัจจุบัน สปสช. ดำเนินงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคม จนทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งด้วยกฎหมายและนโยบาย เป็นระบบที่มีความมั่นคงสำหรับประชาชน มีการรับฟังเสียงจากประชาชนซึ่งมีความสำคัญและเป็นนวัตกรรมของระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบสุขภาพในประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนากลไก “การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์” และเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ดังนั้น การเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในอาเซียนในการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนในภูมิภาค นอกจากนี้ยังคาดหวังที่จะเห็นความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป เพื่อสนับสนุนแต่ละประเทศในการกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านต้นทุน และสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค