สภาผู้บริโภค จัดเวทีหารือ แก้ปัญหา ‘ตั๋วเครื่องบินแพง – ปฏิเสธผู้โดยสาร’ เสนอคุมราคาตั๋ว และสนับสนุนคนเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาล แนะกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติกลางสำหรับผู้พิการ เพื่อลดความสับสนและสร้างความเท่าเทียม
วันนี้ (3 เมษายน 2567) สภาผู้บริโภค จัดประชุมเรื่อง “แนวทางความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีค่าโดยสารสายการบินราคาแพง และการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค” เพื่อหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสารการบิน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ตัวแทนผู้ประกอบการ จากสายการบินนกแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และตัวแทนผู้พิการ เข้าร่วมหารือด้วย
ทั้งนี้ ภาพรวมในที่ประชุมมีการพูดคุยใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลราคาตั๋วเครื่องบิน และการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการที่ใช้บริการสายการบิน สำหรับข้อเสนอเรื่องการควบคุมราคาของตั๋วเครื่องบินโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล โดยไม่ควรเป็นเพียงโปรโมชันเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเป็นการควบคุมราคาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการสนับสนุนให้คนหันมาใช้สายการบิน เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิของผู้พิการนั้น มีข้อเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติกลางเกี่ยวกับการให้บริการสำหรับผู้พิการ เพื่อลดความสับสนของผู้บริโภคและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการสายการบินด้วย นอกจากนี้ ยังเสนอให้เพิ่มช่องทางให้แจ้งความประสงค์สำหรับผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงการแจ้งข้อมูลที่จำเป็น เช่น การจำกัดจำนวนผู้พิการต่อเที่ยวบิน หรือความจุของแบตเตอรีรถวีลแชร์ เป็นต้น โดยควรเป็นการแจ้งข้อมูลตั้งแต่ก่อนจองและซื้อตั๋วโดยสาร เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่องบิน
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและ ยานพาหนะ สภาผู้บริโภค นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงบริการสายการบินและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านขนส่งและยานพาหนะ โดยระบุว่า ปัญหาที่พบเจอปัจจุบันคือ ค่าโดยสารแพง สายการบินดีเลย์ เที่ยวบินยกเลิก นอกจากนี้ ได้ยกประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารของสหภาพยุโรป กรณีล่าช้าเกิน 2 ชม.ขึ้นไป ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับเครื่องดื่ม อาหาร และการสื่อสาร กรณีล่าช้าเกิน 3 ชม. ขึ้นไป ผู้โดยสารมีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากสายการบินตามระยะทาง หากกรณีล่าช้า 5 ชม.ขึ้นไป ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเต็มราคาบัตรโดยสาร และเที่ยวบินเดินทางกลับไปยังจุดหมายแรก
ประเด็นเรื่องอัตราค่าโดยสาร
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า ค่าตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เพียงเรื่องราคา แต่มองถึงมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศ การใช้จ่ายต่าง ๆ หากค่าโดยสารมีราคาสูงเกินไปจะส่งผลให้ผู้บริโภคไม่เที่ยวในประเทศ และไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งทางกรมการบินพลเรือนควรกำกับดูแลผู้บริโภคอย่างไร ให้ได้ใช้บริการสายการบินในราคาที่เป็นธรรม และปรับปรุงโครงสร้างเพดานราคาค่าตั๋วเครื่องบินให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น
“แม้ว่า สำนักการบินพลเรือนจะมีการทำงานร่วมกับสายการบินเป็นอย่างดี แต่อยากให้ทำงานร่วมกับผู้บริโภคด้วย เห็นได้ว่าการกำหนดเพดานเพดานราคาค่าโดยสารตามระเบียบ กพท.ควบคุม ไม่เกิน 9.4 บาทต่อกิโลเมตรนั้น ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค อยากให้ทบทวนในส่วนนี้ และอยากให้ตัวแทนผู้บริโภคสามารถเข้าไปให้ข้อเสนอหรือข้อแนะนำ ส่วนกรณีส่วนลดร้อยละ 20 ไม่อยากให้เป็นเพียงโปรโมชันชั่วคราว เราต้องการราคาที่เป็นธรรม และทำให้สายการบินเป็นทางเลือกของผู้บริโภคจริง ๆ”
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า หากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการสายการบินได้อย่างเท่าเทียม จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ในช่วงเทศกาลได้ จึงเสนอให้สายการบินสนับสนุนการเดินทางโดยการลดค่าโดยสาร ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างประเทศจีน ในช่วงเทศกาลสายการบินจะมีโปรโมชันลดราคาตั๋วเครื่องบิน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดด้วยเครื่องบิน เพื่อลดความแออัดบนท้องถนนและอุบัติเหตุ
อุไรรัตน์ สาระ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง กพท.ตระหนักดีเรื่องค่าโดยสาร กพท.มีการกำหนดราคาด้วยหลัก “Dynamic Pricing” เป็นกลยุทธ์การตั้งราคาแบบยืดหยุ่นตามหลักการสากลในการกำหนดราคาตั๋วโดยสาร ราคาตั๋วเครื่องบิน สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะ ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา
กรณีช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้เพิ่มเที่ยวบินกว่า 100 เที่ยว และได้พูดคุยกับสายการบินเรื่องลดเพดานค่าโดยสาร ลดร้อยละ 20 เพื่อสนับสนุนการเดินทางให้แก่ผู้ที่จะเดินทางช่วงสงกรานต์ นอกจากนี้ กพท.ดำเนินการทบทวนนโยบายค่าโดยสารมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ ต้องพิจารณาในภาพรวมโดยต้องคิดถึงสายการบินและผู้โดยสาร หากผู้โดยสารมีการวางแผนล่วงหน้า และจองบัตรโดยสารล่วงหน้าจะได้ค่าโดยสารที่ถูก แต่อย่างไรก็ตามจะมีการปรับปรุงว่าควรมีการปรับลดเพดานค่าโดยสารอย่างไรต่อไป
ด้านผู้แทนจากสายการบินนกแอร์ ชัยรัตน์ เลิศฐิติกุล กล่าวว่า ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันของธุรกิจการบินในประเทศค่อนข้างสูง แต่ละสายการบินมีการลดราคค่าโดยสาร ซึ่งก็อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาตั๋วเครื่องบินก่อนช่วงโควิด-19 มีราคาถูกกว่าในปัจจุบัน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น แต่สายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เท่าเดิม เนื่องด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น จำนวนเที่ยวบินที่น้อยลง จึงส่งผลให้ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วเครื่องบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นมา แต่หลังจากนี้เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ในอนาคตราคาตั๋วเครื่องบินอาจจะถูกลงเหมือนเดิม
ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่า กรณีราคาตั๋วเครื่องบินไม่ควรเป็นปัญหาของผู้บริโภคที่ไม่วางแผนการเดินทาง เพราะบางกรณีผู้บริโภคอาจมีการเดินทางกระทันหัน ซึ่งการเดินทางโดยเครื่องบินควรเป็นบริการสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่มีเพียงคนมีกำลังซื้อเท่านั้นที่เดินทางได้
“พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่สายการบินจะแสดงราคาให้ทราบชัดเจนว่าแต่ละที่นั่งราคาเท่าไหร่ เหมือนเวลาเราไปดูหนังเราก็จะรู้ว่าราคาแต่ละที่นั่งราคาเท่าไหร่ หรือซื้อช่วงไหนจะได้ราคาพิเศษ ก็เข้าใจว่าหลังโควิดมามีปัญหาเรื่องจำนวนเที่ยวบินเครื่องบินไม่เพียงพอ ทำให้อุปสงค์อุปทานไม่มันไม่สอดคล้องกันเลยกลายเป็นเหตุผลทำให้ตั๋วเครื่องบินแพง แต่มีความเห็นว่าประเด็นคือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องทำให้มีความสมเหตุสมผล ไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้บริโภค”
ประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการ
สว่าง ศรีสม อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ร่วมสะท้อนเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้พิการเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 20 ปี และเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงตั้งแต่เปิดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้พิการได้พยายามร้องเรียน และมีการพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และพบว่าในช่วงที่ผ่านมาแต่ละสายการบินก็มีการปรับตัวจนกระทั่งปัญหาถูกแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสายการบินใหม่เกิดขึ้นหรือริ่มเข้ามาให้บริการในประเทศไทยกลับพบว่าเกิดปัญหาเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“คําถามคือเกิดอะไรขึ้น ทําไมเมื่อมีสายการบินน้องใหม่เราจึงยังพบกับปัญหาเดิม ๆ แปลว่าในอนาคตถ้ามีสายการบินใหม่เข้ามาบินในประเทศไทยเพิ่ม ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก แล้วเราก็ต้องพยายามเหมือนเดิม พูดเรื่องเดิมซ้ํา ๆ กับสายการบินที่เข้ามาใหม่ใช่หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ากฎหมายหรือระเบียบนโยบายข้อกําหนดต่าง ๆ ไปไม่ถึงสายการบินที่เข้ามาใหม่” สว่างระบุ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง มาตรฐานที่ไม่ตรงกัน ปฏิบัติไม่เหมือนกันจนนํามาสู่ซึ่งความสับสนของคนเดินทางและสิ่งที่เป็นปัญหาของการเดินทางคือผู้พิการมักได้รับทราบปัญหาตอนถึงสนามบินแล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ทั้งยังเสียเวลา เสียโอกาส และเสียความรู้สึก ดังนั้นอยากขอความร่วมมือจากสายการบินว่าพยายามให้ผู้พิการทราบข้อจํากัดหรือปัญหาล่วงหน้าตั้งแต่ตอนที่จองตั๋วเครื่องบินให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งที่ต้องถามตั้งแต่ขั้นตอนการจองเที่ยวบินคือ หนึ่ง ผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือพิเศษแบบใด สอง ถ้ามีข้อกําหนดต่าง ๆ ต้องแจ้งให้ทราบตั้งแต่ก่อนจองตั๋ว นอกจากนี้ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการส่งต่อข้อมูลจากคนรับเรื่องไปสู่เจ้าหน้าที่สนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเช่นกัน
“ถ้ามีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเดินทางในเที่ยวบินนั้น ๆ ได้ ก็ต้องแจ้งให้ทราบก่อนจองตั๋ว อย่างเช่นแบตเตอรีวีลแชร์ความจุเท่าไหร่ที่นำขึ้นเครื่องได้ หรือถ้าสายการบินนี้เที่ยวบินนี้รับคนพิการได้ไม่เกิน 4 คนเราก็ควรจะต้องรู้ว่าตอนจองไปกี่คนละไม่ใช่เราไปลุ้นเอาตอนที่ที่ไปถึงสนามบินแล้วก็เอาคุณมาเป็นคนที่ 5 คุณบินไม่ได้ก็ทําให้เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะฉะนั้นข้อมูลที่สามารถให้ล่วงหน้าได้ควรจะต้องให้ให้ให้เราทราบล่วงหน้าก่อน” สว่างกล่าว
ทั้งนี้ เรื่องมาตรฐานแบตเตอรีเป็นสิ่งที่ต้องสรุปกันให้ชัดเจนภายในประเทศ ว่าเราจะใช้มาตรฐานไหนตัวเลขใด เนื่องจากปัจจุบันแต่ละสายการบินมีข้อกำหนดที่ต่างกัน นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วย คือการกำหนดว่าต้องเดินขึ้นเครื่องเองได้เพราะไม่มีบริการบางอย่าง เช่น ไม่มีรถวีลแชร์ให้บริการบนเครื่อง เนื่องจากเป็นการปฏิเสธด้วยเหตุแห่งความพิการ ซึ่งสิ่งอํานวยความสะดวกหรือว่าอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ควรจะต้องมีในทุกสายการบินหรือประจําสนามบินที่สามารถใช้บริการได้
“สายการบินที่อาจจะขอชื่นชมที่ทําเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดีก็คือแอร์เอเชีย ที่จะให้เราสามารถบอกได้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือแบบไหน ผมไม่แน่ใจว่าสายการบินอื่นได้ได้ทําเรื่องนี้ด้วยมั้ยตอนจองควรจะต้องมีก็ควรจะต้องบอกให้น้องชัดเจนข้อมูลที่เราควรจะต้องทราบคุณจะต้องให้รู้ตั้งแต่ตอนที่จองตั๋วเพื่อที่จะไปลดปัญหาการที่เกิดขึ้นในช่วงในช่วงที่เคาน์เตอร์หรือว่ามีช่วงการขึ้นเครื่องให้ได้มากที่สุด” สว่างกล่าวทิ้งท้าย
ศุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ประสานงานโครงการ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ หรือทีโฟร์เอ (T4A : Transportation For All) กล่าวว่า เคยเป็นผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติเรื่องของการขึ้นเครื่องบินเหมือนกัน เป็นประเด็นปัญหาเรื่องความเข้าใจของมาตรฐานที่ไม่ตรงกัน เช่น ความจุของแบตเตอรี่ที่แต่ละสายการบินกำหนดแตกต่างกันไป หรือเรื่องของเคเบิลวีลแชร์ที่เข้าใจว่าจะมีในเครื่องบินทุกลำ แต่เมื่อไม่มีทำให้ถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และยังมีปประเด็นการนับจำนวนผู้พิการแต่ละสายการบินมีมาตรฐานอย่างไร
“ในบางสายการบินให้โควตาผู้พิการขึ้นเครื่องได้ 8 คน แล้วหากมีผู้สูงอายุ คนหูหนวก คนตาบอด และผู้ใช้วีลแชร์ อย่างละ 2 คน เช่นนี้ถือว่าครบ 8 คนแล้วหรือไม่ เพราะจริง ๆ คนหูหมวกถ้ารู้สัญญาณก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่นนี้แล้วจะนับเป็นคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือไม่” ศุภวัฒน์ฝากประเด็นทิ้งท้าย
สุนทร สุชา สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวถึง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 41/131มีการกำหนดเรื่องการลดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายอันสมควรในการให้บริการขนส่งสาธารณะ และมีความเป็นธรรม เสมอภาค และในมาตรา 41/133 ระบุว่าปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารไม่ได้ เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยหรือรักษาความปลอดภัย และในมาตรา 107/2 ได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ต้องระวางโทษปรับ 50,000 – 500,000 บาท
“ที่ผ่านมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วพบสายการบินมีการปฏิเสธผู้พิการ แต่กฎหมายการลงโทษเริ่มมีในปี 2562 ซึ่งหลังจากปี 2562 ยังพบสายการบินปฏิเสธผู้โดยสารอยู่ จึงอยากสอบถามคณะกรรมการที่มีอำนาจในการพิจารณาได้มีการใช้มาตรา 107/2 ในการลงโทษสายการบินที่ปฏิเสธผู้พิการบ้างแล้วหรือไม่”
ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้พิการว่าอยากให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานกํากับดูแล เช่น สถาบันการบินพลเรือน ศึกษาข้อมูลเรื่องของยูเอ็นจีพี (UNGPs : The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งเป็นหลักการที่สหประชาชาติรับรองขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชนจากธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิฯ พยายามผลักดันเรื่องการใช้ยูเอ็นจีพีในตลาดหลักทรัพย์และในหลายส่วน เนื่องจากบทบาทของภาคธุรกิจกับความรับผิดชอบในด้านสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และอาจเป็นเงื่อนไขในการส่งสินค้าบริการขายในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้สิทธิของคนที่เป็นคนพิการสิทธิผู้บริโภคคือสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการนําเอายูเอ็นจีพีมาประกอบการพิจารณาไม่ว่าจะดําเนินการใด ๆ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและควรผลักดันให้เกิดขึ้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า ประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิควรอยู่ในแนวทางการปฏิบัติต่อผู้พิการ โดยที่ไม่ต้องให้ผู้พิการออกมาเรียกร้อง ทั้งยังเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติเป็นการทั่วไปในประเทศไทย เพื่อยกระดับการการคุ้มครองคนกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งเป็นสิ่งที่แสดงถึงระดับการพัฒนาของประเทศ ทั้งนี้ อยากทราบข้อมูลสถาบันการบินพลเรือนให้ฐานะหน่วยงานกำกับดูแลว่ามีสายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการให้บริการแก่ผู้พิการหรือไม่ อย่างไร
ทางด้าน ศิริลักษณ์ วาทะวัฒนะ พนักงานอาวุโสฝ่ายมาตรฐานบริการการเดินอากาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ข้อมูลว่าหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติของสายการบินที่ใช้กันทั่วโลกคือของ องค์กรการบินระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ (ICAO : International Civil Aviation Organization) โดยจะมีแนวปฏิบัติสําหรับคนเรื่องให้บริการกับผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษด้วย ซึ่งทุกสายการบินสามารถปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยตอนนี้สถาบันการบินพลเรือนอยู่ในระหว่างการจัดทํากฎระเบียบข้อบังคับให้เป็นไปตามหลักของสากล โดยเนื้อหาความมุ่งหมายจะกําหนดหน้าที่ของทางด้านโอเปอเรเตอร์ คือผู้ดําเนินการตั้งแต่สนามบิน สายการบิน รวมถึงซับคอนแทคสายการบิน ก็จะครอบคลุมทั้งหมด
“การที่เขาจะบินระหว่างประเทศได้ เขาต้องปฏิบัติตามกติกาที่กำหนดไว้ หรือหากบอกว่าเขาทําไม่ได้ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ เช่น เรื่องการให้บริการสำหรับผู้พิการจะมีข้อกําหนดว่าต้องแจ้งสายการบินล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง แต่ถึงแม้ถ้าจะไม่แจ้งก็ให้สายการบินใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดในการให้บริการ บางครั้งถ้าเวลาน้อยไป ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย ก็ต้องดูว่าเขาได้พยายามหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ การสวมหน้ากากออกซิเจนเองได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น” ศิริลักษณ์ ระบุ
ชลธิศ สุทธิกลม หัวหน้ากองคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสายการบินไทยเวียตเจ็ทว่า กพท. มีการประชุมในเรื่องกรณีดังกล่าวรื่องการรับส่งผู้พิการ โดยที่ประชุมได้กําหนดว่า หนึ่ง ให้ไทยเวียตเจ็ทเพิ่มตัวเลือกและรายละเอียดข้อมูลสำหรับผู้พิการนี้ในเว็บไซต์สายการบิน ซึ่งสายการบินได้เพิ่มรายละเอียดดังกล่าวแล้ว สอง กพท. จะประชาสัมพันธ์ ข้อจํากัดในแต่ละเที่ยวบิน ทั้งเรื่องความจุแบตเตอรี่ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับรู้ก่อนล่วงหน้าสิ่งนี้จะเป็นการดําเนินงานของ กพท. ที่จะประชาสัมพันธ์ให้กับทุกสายการบินและประชาชนได้ทราบ
“สำหรับกรณีเวียตเจ็ท ที่พูดคุยล่าสุดคือสายการบินกําลังพิจารณาในการปรับปรุงกระบวนการและอุปกรณ์ เพื่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เมื่อกฎกระทรวงไม่ได้กําหนดว่าเคบินแชร์ต้องเป็นอํานาจของใคร แต่เชื่อว่าถ้าแต่ละสายก็จะมีอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งบนเครื่องบินหรือสนามบิน ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารอีกด้วย
ชนัญญา สัตยธรรม ผู้แทนจากบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สายการบินนกแอร์สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหวและต้องให้การช่วยเหลือได้สูงสุดจำนวน 8 ท่านต่อเที่ยวบิน ซึ่งหากแบ่งเป็นผู้พิการที่ต้องมีผู้ติดตามมาด้วย สามารถรองรับได้เพียง 4 ท่าน แต่เป็นผู้ติดตามที่ไม่ต้องมีผู้ติดตาม สามารถรองรับสูงได้ถึง 8 ท่าน
ขณะที่ อมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์มีเครื่องบินขนาดเล็กที่มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหวและต้องให้การช่วยเหลือได้จำนวน 2 ที่ ขณะที่เครื่องบินขนาดใหญ่หรือแอร์บัสสามารถรองรับได้จำนวน 4 ที่ รวมทั้งมีหลากหลายบริการเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหว อาทิ หากผู้โดยสารต้องการใช้บริการรถเข็นนั่งและสามารถดูแลตัวเองได้ระหว่างการเดินทางสามารถแจ้งกับพนักงานได้ตั้งแต่ในวันจองที่นั่งหรือสามารถแจ้งก่อนวันออกเดินทางล่วงหน้า 24 ชั่วโมงได้
ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารไม่สามารถดูแลตนเองได้ระหว่างการเดินทางจำเป็นต้องมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยและหากต้องการที่จะนำรถเข็นส่วนตัวไปจำเป็นต้องแจ้งก่อนวันเดินทางล่วงหน้า 48 ชั่วโมง โดยจะต้องแจ้งประเภท ขนาด และน้ำหนักของรถเข็นร่วมด้วยเพื่อจัดเตรียมพื้นที่รองรับ เนื่องจากเครื่องบินบางลำของสายการบินบางกอกแอร์เวย์อาจไม่สามารถรองรับหรือไม่มีพื้นที่สำหรับจัดวางรถเข็นของผู้โดยสารหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้ หากผู้โดยสารบางรายต้องการรถทรัคขนาดความสูงเท่าเครื่องบินลำที่กำลังจะบินสำหรับยกรถเข็น (High Lift Truck) ผู้โดยสารจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้สายการบินประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบางรายมีเงื่อนไขทางการแพทย์ สายการบินจำเป็นจะต้องขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ก่อนที่จะบิน
ดังนั้น จึงอยากฝากให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่อาจต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย เป็นต้น ถึงกรณีที่กำลังจะเดินทางด้วยเครื่องบินและต้องการรถเข็นหรือความช่วยเหลือต่าง ๆ สามารถติดต่อไปที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ล่วงหน้าเพื่อให้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้ว่าเครื่องบินลำนั้นมีพื้นที่รองรับรถเข็นหรือรองรับได้จำนวนกี่ที่ ซึ่งหากเครื่องบินลำนั้นไม่มีพื้นที่รองรับหรือเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก พนักงานของสายการบินจะสามารถแนะนำเที่ยวบินที่ยังว่างอยู่และให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผูับริโภคได้ทันที
ตัวแทนจากการท่า กล่าวว่า ในเรื่องการอำนวยความสะดวกของผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษทั้งหมดรวมถึงคนชรา ทารก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)มีการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารและได้ดำเนินการในเรื่องของระเบียบการฝึกอบรม รวมถึงมีการตรวจและกำกับเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่าทุกท่าอากาศยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการครบถ้วน เช่น รถวีลแชร์ ซึ่งสายการบินสามารถติดต่อเพื่อขอใช้ได้ อย่างไรก็ตามในบางปีอาจมีเรื่องขัดข้อง เช่นความไม่พร้อมของอุกกรณ์ แต่ก็มีการทำแผนแก้ไข
พัชรมณฑ์ ปิติปัญญากุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการในทุกด้าน ประเด็นของการเดินทางของคนพิการได้มีการพูดคุยกันมายาวนาน ในสังคมปัจจุบันจะเห็นคนพิการออกสู่สังคมมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีต ทั้งออกไปทำงาน ออกไปใช้ชีวิต ทั้งนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือทัศนคติของคนในสังคมจากการมองคนพิการเป็นภาระเปลี่ยนไปให้เป็นพลังของสังคมแทนหรือมีการให้โอกาสเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวง พม. อยู่ประมาณ 2,200,000 คนซึ่งใน 2,200,000 คนเกินครึ่งเป็นผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตัวเลขจะสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่ากําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเรื่องของการเดินทางก็เป็นเรื่องสําคัญ ควรจะมีมาตรการในเรื่องของการรองรับทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ
อีกทั้ง ในส่วนของประเภทความพิการที่กระทรวงพม.ได้ดูแลอยู่มีทั้งหมด 7 ประเภทหลักและประเภทที่มากที่สุดก็คือทางการเคลื่อนไหวหรือใช้รถเข็นวีลแชร์หรือว่าใช้ไม้ค้ำ มีอยู่ประมาณมากกว่าล้าน ในลำดับที่สองจะเป็นคนหูหนวกซึ่งคนหูหนวกแทบจะเหมือนคนปกติเพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ มีประมาณ400,000 คน และลำดับที่สามเป็นคนพิการทางการเห็น มีอยู่ประมาณ 200,000 คน ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลเบื้องต้น