เวทีรับฟังความเห็น พ.ร.บ.ตั๋วร่วม สภาผู้บริโภคคึกคัก 12 หน่วยงานเข้าร่วมหนุน “ตั๋วใบเดียว”ให้ราคาค่าโดยสารถูกลงทุกระบบ พร้อมเสนอ “คืน” ประธานสภาผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วม ขณะที่เพื่อไทยประกาศเดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาท เดือนกันยายน 2568 นี้แน่นอน
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม เพื่อเป็นมาตรฐานกลางสำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคตนำไปสู่การกำหนดราคาค่าโดยสารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างเป็นธรรม (อ่านรายละเอียดได้ที่ : มติเอกฉันท์ สภารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม บัตรใบเดียว ขึ้นได้ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ)
สภาผู้บริโภค จึงจัดให้มีเวที “ เปิด พ.ร.บ. “ตั๋วร่วม” ความหวังผู้บริโภคบริการขนส่งมวลชนไม่เกินร้อยละ10 ทั่วประเทศ โดยมี 12 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนของผู้บริโภค เข้าร่วม อาทิ ตัวแทนกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางราง พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการ โดยข้อคิดเห็นทั้งหมดจะรวบรวมจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที
นายจิรโรจน์ ศุกลรัจน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พศ. …. ผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระแรกเป็นที่เรียบร้อย โดยมีเนื้อหาสำคัญประกอบด้วย 7 หมวด 54 มาตรา โดยหมวดที่ 1 เป็นเรื่องของโดยคณะกรรมการนโยบาย ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานกำหนดนโยบายให้เกิดขึ้น หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ทำหน้าที่กำกับดูแล การประกอบกิจการระบบตั๋วร่วม ในเรื่องของการขออนุญาต การต่อใบอนุญาต โดยจะมีใบอนุญาต 3 ประเภท คือ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง 2. ใบอนุญาตการให้บริการออกบัตรชำระค่าโดยสารในระบบตั๋วร่วม และ 3. ใบอนุญาตให้บริการขนส่งผู้โดยสารในระบบตั๋วร่วม
หมวดที่ 3 เรื่องอัตราค่าโดยสารร่วม หมวดที่่ 4 เรื่องของกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม การใช้กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้ หมวด 5 เป็นเรื่องของพนักงานเจ้าหน้าที่ หมวดที่ 6 เรื่องมาตรการค่าปรับบทลงโทษ หากไม่สามารถดำเนินการได้ หมวด 7 เป็นเรื่องของบทลงโทษ และบทเฉพาะกาล
“เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนของการให้บริการ และค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะเพื่อให้การเดินทางสะดวก ปลอดภัย และมีราคาที่เป็นธรรม” นายจิรโรจน์ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถก ดันตั๋วร่วม – เส้นทางย่อย สภาผู้บริโภค หารือ สนข. พัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ
ร้องคมนาคมอย่ารวบรัด เปิดรับฟัง “พ.ร.บ. ตั๋วร่วม” ต้องเปิดพื้นที่ทั่วถึง-ขยายเวลา
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม อีกฉบับของพรรคประชาชน กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ได้เสนอ โดยสรุปถึงข้อแตกต่างระหว่างร่างของรัฐบาลและร่างของพรรคประชาชน ซึ่งร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลักว่า โดยหลักการเราสนับสนุนให้มีระบบตั๋วร่วม แต่ประเด็นที่มีความแตกต่างกันและต้องกรถกเถียงเพื่อประโยชน์ต่อประเทศปละมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนคือ “ค่าโดยสารร่วม” และอีกประเด็นคือความชัดเจนเรื่องขนส่งสาธารณะที่ไม่ใช่เพียงแค่รถไฟฟ้า แต่เป็นระบบบริการเชื่อมต่อทั้งหมด
“นิยามที่ชัดเจนคือ ขนส่งสาธารณะไม่ใช่แค่ระบบรถไฟฟ้า แต่ต้องครอบคลุมเท่าเทียมทั้งหมด ในการเดินทางทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นการอุดหนุนค่าโดยสารจะต้องสมดุลและเป็นธรรมไม่ใช่การอุดหนุนแค่รถไฟฟ้า เราต้องทำให้การขนส่งทุกระบบเป็นระบบเดียวให้ได้ จึงมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าโดยสารร่วมซึ่งเราคิดว่าร่างของพรรคประชาชนสมเหตุสมผล”
นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ฉบับรัฐบาล ในส่วนคณะกรรมการนโยบายควรกำหนดสัดส่วนของภาคประชาชน โดยขอให้นำเอาประธานสภาผู้บริโภคเข้ามาเป็นกรรมการนโยบาย เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฉบับแรกของ สนข.มีการกำหนดให้ประธานสภาผู้บริโภคเป็นกรรมการ แต่ถูกถอดออกและนำเอาอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ามาแทนจึงเห็นว่าควรจะแก้ไข “คืน” สัดส่วนผู้แทนประชาชนในคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม โดยนำเอาประธานสภาผู้บริโภคเข้ามาร่วมเป็นกรรมการนโยบายเช่นเดิม
ขณะที่ นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สนับสนุน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมอยู่แล้วโดยเฉพาะในเรื่องของค่าโดยสสารร่วมที่พรรคเพื่อไทยผลักดันนโยบายให้ค่าเดินทางไม่เกินร้อยละ10 ของค่าแรงขั้นต่ำ โดยในเดือนกันยายน 2568ที่ จะถึงนี้ รัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขณะที่รถเมล์รัฐบาลได้ศึกษาว่าจะกำหนดค่าโดยสาร 10 บาททุกสายได้หรือไม่ เพราะนั่นหมายความว่าการเดินทางของประชาชนไม่ว่าจะจากจุดไหนจะมีค่าค่าโดยสารเท่ากันคือ 60 บาท สอดคล้องกับนโยบายรายได้ค่าแรงขั้นต่ำที่จะกำหนด 600 บาท
“เราอยากสร้างความเท่าเทียมในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ว่าจะอยู่จุดไหนสามารถเดินทางในราคาเดียวกันได้ ส่วนเรื่องของเงินอุดหนุนนโยบายรถไฟฟ้าขณะนี้เราไม่ได้ใช้ภาษีของประชาชนแต่ใช้เงินจาก กองทุนรฟม.ซึ่งเป็นเงินของคนกรุงเทพฯอยู่แล้ว และใน เดือนกันยายน ที่จะประกาศใช้ 20 บาทตลอดสาย กองทุน รฟม. มีเงินเพียงพอที่จะดูแลนโยบายนี้ไปได้ 2 ปีแน่นอน”
ส่วนการสนับสนุนในระยะยาว นายกฤชนนท์ กล่าวว่า การสนับสนุนระยะยาวรัฐบาลกำลังศึกษา เรื่องค่าธรรมเนียมรถติดว่าจำเป็นต้องมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อซื้อคืนสัมปทานหรือไม่ แต่สิ่งที่ได้จากนโยบายค่าโดยสาร 20 บาท ในสายสีแดงและสีม่วง คือ ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น การมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การอุดหนุนของรัฐบาลน้อยลง ซึ่งคาดว่าการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลคุ้มทุนได้ใน 2 ปี โดยจะเห็นว่าในช่วง 1 สัปดาห์ของการให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ส่งผลให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 37 % ทำให้เราคิดว่าค่าโดยสารราคาเหมาะสมจะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น
ด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป้าหมายของ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คือ ทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง ทุกคนเข้าถึงขนส่งมวลชนสาธารณะได้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า และกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมจะหาเงินมาจากไหน เพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกลง โดยไม่เป็นภาระหนักของภาครัฐ ซึ่งเห็นว่าสามารถทำค่าโดยสารให้ถูกลงได้หากหลีกเลี่ยงการใช้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP (Public – Private Partnership) ในการจ้างเดินรถไฟฟ้าและรัฐเดินรถเอง นอกจากนี้เห็นว่าต้องไม่การขยายสัมปทาน เพระเอกชนมีวิธีคิดค่าโดยสารที่แตกต่างจากรัฐ ดังนั้นการไม่ต่อสัมปทาน จึงเป็นการลดค่าโดยสารถูกลงอย่างยั่งยืนได้
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึง ราคาเป็นธรรมมีค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ โดยการพัฒนาดังกล่าวต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. โดยเห็นว่าการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยเข้าระบบตั๋วร่วมจะเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่าการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในราคาแพง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกำหนดค่าโดยสารร่วมในราคาที่เหมาะสมทำให้เกิดบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐาน สะดวก ความปลอดภัย
“เราอยากให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการใช้บริการของผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทุกระบบบ และหากเป็นไปได้ในกลไกของกรรมการนโยบายตั๋วร่วม สภาผู้บริโภคอยากเห็นสัดส่วนของผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นกรรมการเพื่อเสนอความเห็นในฐานะผู้บริโภค” นางสาวสารี กล่าว