สภาผู้บริโภคเสนอบริษัทตรวจสอบการติดตั้งระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล “สายสีชมพู -สายสีเหลือง” ใหม่ทั้งหมด คาดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจมาจากปัญหาการติดตั้งระบบที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นเนื่องจากเพิ่งเปิดใช้งานไม่นานแต่เกิดอุบัติเหตุ ชี้ไทยถือเป็นประเทศแรกที่พบปัญหารถไฟฟ้าโมโนเรล ล้อหลุด – ระบบรางไฟฟ้าร่วง
จากปัญหาอุบัติเหตุรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล (Monorail) 2 สาย ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเปิดใช้งานได้เพียงรยะเวลาไม่นานแต่กลับพบปัญหารถระบบรางไฟฟ้าหลุดและ ล้อหลุด ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
วันที่ 3 มกราคม 67 รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศไม่พบการเกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้ารางเดียวโมโนเรล ล้อหลุด หรือ รางระบบไฟฟ้าร่วง การเกิดอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าวเพิ่งพบในประเทศไทยครั้งแรก โดยคาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาความชำนาญในการติดตั้งระบบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้งสายสีเหลืองและสายสีชมพูถือเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรกของประเทศไทย จึงเสนอให้บริษัทค้นหาสาเหตุและตรวจสอบความปลอดภัยทั้งระบบว่ามีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยจากการติดตั้งระบบหรือไม่
“ผมคิดว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องของการบำรุงรักษา น่าจะอยู่ที่การติดตั้งระบบที่อาจจะไม่ดีเพียงพอ เนื่องจากเปิดใช้งานมาในระยะเวลาไม่นานก็เจอ 2 ปัญหาแล้วทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู จึงเสนอให้บริษัทที่ติดตั้งตรวจสอบการติดตั้งทั้งหมดว่ามีปัญหาที่จุดอื่น ๆ อีกหรือไม่ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยจำนวนมากหลายจุดควรจะหยุดให้บริการเพื่อปรับระบบติดตั้งใหม่ให้ปลอดภัยของผู้โดยสารมากขึ้น” รศ.ดร.ชาลีกล่าว
ทั้งนี้ การตรวจสอบระบบติดตั้งต้องเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยในทุกจุด เนื่องจากการติดตั้งของรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล แตกต่างระบบของรถไฟฟ้าแบบ Heavy Rail ซึ่งให้บริการในรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง เพราะระบบHeavy Rail จะออกแบบให้รางรถไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าทั้งหมดวางบนแท่งคอนกรีต
ขณะที่ ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) มีคอนกรีตแท่งรางเดี่ยว ทำให้ล้อและระบบรางไฟฟ้าใช้ตัวน็อตยึดเอาไว้ด้านนอกไม่ได้วางบนคานคอนกรีต จึงต้องตรวจสอบระบบติดตั้งตลอดเส้นทั้ง 2 ขบวนว่าติดตั้งอย่างปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่โดยเฉพาะในจุดที่มีระบบน็อตที่ยึดกับแท่งคอนกรีต
“นอกจากนี้ระบบรถไฟฟ้าแบบโมโนเรลเป็นระบบที่มีแท่งคอนกรีตรางเดียวและล้อหรือรางยึดเอาไว้ภายนอกทำให้เวลามีปัญหาหลุดร่วงลงพื้นได้ ในต่างประเทศ บางจุดที่เสี่ยงเขาถึงทำตะแกรงรองรับไว้เพื่อหากเกิดปัญหาจะไม่มีอะไรร่วงลงมาบนพื้นถนน จึงอยากเสนอให้จัดทำตะแกรงรองรับในจุดที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้มีอะไรร่วงลงมาบนพื้นถนน” รศ.ดร.ชาลีกล่าว
รศ.ดร.ชาลี ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระบบการเดินรถจะค่อนข้างโคลงเคลง แตกต่างจากรถไฟฟ้าโมโนเรลในต่างประเทศซึ่งจะนิ่งและไม่ค่อยโคลงเคลง จึงสันนิษฐานว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องการติดตั้งที่ระบบล้อและรางยังไม่สมดุลหรือเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบระบบติดตั้งทั้งหมด
ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ออกมาชี้แจงว่า จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา โดยขบวนรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ซึ่งมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ และขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
ขณะที่อุบัติเหตุรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างทดลองการเดินรถ) ออกเอกสารชี้แจงกรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหายโดยอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้นต่อไป
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ขนส่งสาธารณะ
ขอบคุณภาพ : กระทรวงคมนาคม