“ศรีสวัสดิ์” โต้คดีแพ้แต่ยังไม่จบ สภาผู้บริโภคยันชนะคดีเพราะข้อมูล

Getting your Trinity Audio player ready...

สภาผู้บริโภค ยืนยัน ข้อมูลการสู้คดีกรณีผู้บริโภคถูกบริษัทเงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ ฟ้องผิดสัญญาเงินกู้สินเชื่อจำนำโฉนด เป็นความจริงทุกประการ ย้ำพยาน หลักฐาน และผลพิสูจน์ชี้ชัดบริษัทฯ ใช้เอกสารปลอม เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสะสางปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หลัง”ศรีสวัสดิ์” ออกมาโต้คดีแพ้แต่ยังไม่จบ

จากกรณีสภาผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นพยานในคดีที่ผู้บริโภคถูกบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องเรื่องผิดสัญญาเงินกู้สินเชื่อจำนำโฉนด จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคได้ทำสัญญากู้และได้รับเงินจริง และสัญญาที่นำมาแสดงเป็นเอกสารปลอม (อ่านรายละเอียดได้ที่ : ผู้บริโภคชนะ! ศาลชี้ชัด ‘ศรีสวัสดิ์’ ใช้เอกสารปลอม) แต่ในเวลาต่อมาบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง บริษัทไม่มีนโยบายการดำเนินงานและการกระทำดังกล่าวที่ขัดต่อหลักกฎหมาย โดยมีหลักฐานว่าลูกค้าคนดังกล่าวได้กู้ยืมเงินจากบริษัทจริง  เช่น ภาพถ่ายขณะลงนามในสัญญา หรือหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมระบุว่าคดียังไม่สิ้นสุดจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าบริษัทได้ทำการปลอมแปลงเอกสารสัญญาเงินกู้ นั้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ : SAWAD ย้ำจุดยืนธุรกิจไร้การปลอมแปลงเอกสารที่ขัดต่อกฎหมาย)

วันนี้ (2 ธันวาคม 2566) โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคขอยืนยันว่า ข้อมูลผลการต่อสู้คดีของผู้บริโภคที่เผยแพร่ออกไปเป็นความจริงทุกประการ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมมาภิบาลตามที่กล่าวอ้าง และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมากำกับดูแลและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจกู้ยืมเงินให้กับผู้บริโภค

สำหรับรายละเอียดของคดีดังกล่าวผู้บริโภคถูกฟ้องให้ชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเป็นโจทก์ฟ้องคดี ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินตามสัญญากู้ยืมเงิน บริษัทจึงต้องพิสูจน์ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าทำสัญญากู้เงินกับบริษัทจริง และต่อมาศาลได้มีคำพากษายกฟ้องตามที่ปรากฎในข่าว

ส่วนประเด็นที่บริษัทฯ ชี้แจงว่ามีหลักฐานว่าลูกค้าคนดังกล่าวได้กู้ยืมเงินจากบริษัทจริง  เช่น ภาพถ่ายขณะลงนามในสัญญา หรือหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีนั้น โสภณอธิบายว่า หลักฐานภาพถ่ายขณะลงนามในสัญญา ที่บริษัทฯ นำมาฟ้องคดี ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นภาพของผู้เสียหายขณะลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบกับ บริษัทฯ ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏว่าลูกค้าได้รับเงินกู้จากบริษัทจำนวนกว่าห้าแสนบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า เอกสารสัญญากู้ที่บริษัทฯ นำมาใช้เป็นหลักฐานเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากผู้เสียหายยืนยันว่าลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ใช่ลายเซ็นจริง ทั้งยังได้ส่งสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ลายเซ็นที่ปรากฏในสัญญาไม่ใช่ลายเซ็นของผู้เสียหาย ศาลจึงนำเหตุผลดังกล่าวไปประกอบในการพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้เปิดเผยคำพิพากษาดังกล่าวไว้ในการเผยแพร่ข่าวสารครั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยรวมด้วย

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวอีกว่า นอกจากกรณีที่กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันสภาผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการดำเนินธุรกิจของบริษัท ศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ อีกมากกว่า 50 กรณี โดยมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน เช่น ทำสัญญากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งมอบทะเบียนรถหรือโฉนดที่ดินเมื่อลูกค้าชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เป็นต้น

“สภาผู้บริโภคขอให้บริษัทดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมมาภิบาลตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมากำกับดูแลและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัท เนื่องจากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกระทรวงการคลัง ที่ต้องตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค” โสภณกล่าวทิ้งท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค