สปสช. จับมือ สภาองค์กรของผู้บริโภค แก้ปัญหาผู้ใช้สิทธิบัตรทองถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษา (Extra billing) ย้ำขัดหลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเผยเรื่องร้องเรียนย้อนหลัง 5 ปี ผู้ประกันตนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษารวมเป็นเงินกว่า 35.7 ล้านบาท ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่น “อนุทิน” แก้ไขปัญหาเชิงระบบ แนะผู้บริโภครักษาสิทธิหากถูกเรียกเก็บเงิน
วันนี้ (2 ธันวาคม 2565) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว สปสช. จับมือ สภาองค์กรของผู้บริโภคแก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษา “ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ไม่ต้องจ่าย สิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน” เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ในกรณีที่เป็นการเข้ารับบริการภายใต้สิทธิประโยชน์และขอบเขตบริการ หน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ หากผู้บริโภคถูกเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนดสามารถร้องเรียนได้ที่ สปสช. หรือ สภาองค์กรของผู้บริโภค
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปี 2561-2565 มีประชาชนร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษา (Extra billing) เข้ามาที่ สปสช. 3,329 เรื่อง รวมเป็นเงิน 35,700,006 บาท เมื่อจำแนกข้อมูลการใช้สิทธิพบว่า เป็นกรณีเข้ารักษาหน่วยบริการตามสิทธิหรือส่งต่อมากที่สุด 1,526 เรื่อง ใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 598 เรื่อง สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 563 เรื่อง สิทธิประสบอุบัติเหตุ 385 เรื่อง สิทธิเด็กแรกเกิด/สิทธิว่าง 156 เรื่อง และสิทธิผู้พิการ/ทหารผ่านศึก 101 เรื่อง
โดยโรคและอาการที่ถูกเรียกเก็บเงินมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคระบบย่อยอาหาร/โรคในช่องปาก บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ติดเชื้อโควิด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ 5 รายการแรกของบริการที่ถูกเรียกเก็บมากที่สุด คือ บริการรักษาพยาบาล/ยาในบัญชี/ทำแผล, บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค, ตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา, อวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและค่าบริการอื่นๆ ส่วนเหตุผลของการถูกเรียกเก็บค่าบริการ เช่น เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นนโยบายของโรงพยาบาล, บริการที่ใช้เบิกไม่ได้, ไม่ทราบว่าใช้สิทธิการรักษาได้, ผู้ร้องเรียนไม่แจ้งใช้สิทธิ ไม่พกบัตรประชาชนและยานอกบัญชี เป็นต้น
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ปัญหานี้ สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาโดยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. และช่วงปีที่ผ่านมาได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เพื่อปรับปรุงประกาศฉบับเดิม ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการ 13 รายการที่เบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนบัตรทองที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บเพิ่มได้ พร้อมจัดทำคู่มือ “Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้” เพื่อสื่อสารไปยังหน่วยบริการในระบบให้เกิดความชัดเจน และในปี 2566 ได้มีการจัดทำแผน กำกับติดตาม พร้อมกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการมีกลไกเฝ้าระวังติดตามและแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จตามเป้าหมายต่อไป
“ตามกฎหมายกองทุนบัตรทอง หน่วยบริการจะเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือ Extra billing ไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนประสบปัญหาหรือเกิดอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการสาธารณสุข ทั้งยังอาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยและครอบครัว แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้หน่วยบริการเรียบเก็บ Extra billing ในระบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าวว่า กรณีการใช้สิทธิบัตรทอง แล้วถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) โดยเฉพาะกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง
คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงจัดทำแผนขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการถูกเรียกเก็บเงินจากใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการและเวชภัณฑ์ บริการนอกเวลาราชการ และบริการอื่นที่เป็นสิทธิประโชน์ เนื่องจากการเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและก่อวิกฤตทางการเงินให้ผู้ป่วย
สารีกล่าวอีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ขอให้จัดการ แก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวในเชิงระบบ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยและให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของหน่วยบริการในระบบบัตรทอง 30 บาท
เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าถึงเรื่องร้องเรียนการเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยยกตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และถูกส่งตัวไปยังอีกโรงพยาบาล แต่หลังจากเข้ารับการรักษาตัวเรียบร้อย กลับถูกเรียกเก็บค่ารักษาเป็นจำนวน 12,595.50 บาท ทั้งที่โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ เนื่องจากเป็นสิทธิส่งต่อ
ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นผู้ป่วยอายุ 72 ปี เข้ารักษาฉุกเฉินด้วยอาการปวดหลังมาก หายใจไม่สะดวก จุกแน่นลิ้นปี่และใต้ราวนมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ต่อมาแพทย์วินิจฉัยพบเป็นภาวะนิ่วในถุงน้ำดี เบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งใช้สิทธิชำระเงินเอง เนื่องจากไม่ทราบสิทธิและทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่ได้ให้ข้อมูลว่าสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยทราบว่าสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะขอใช้สิทธิ แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่แก้ไขเอกสารให้ โดยให้เซ็นปฏิเสธใช้สิทธิ ถูกเรียกเก็บค่ารักษาจำนวน 56,039.50 บาท เมื่อเรื่องเข้าสู่การคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขมีคำสั่งให้คืนเงินผู้ป่วยเนื่องจากทั้ง 2 กรณี มีสิทธิเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้
สารีแนะนำว่า หากผู้บริโภคเข้ารับการรักษาด้วยสิทธิบัตรทองแล้วถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่าเพิ่งจ่ายเงิน แต่ให้โทรศัพท์ไปสอบถาม สปสช. ที่สายด่วน 1330 ว่าถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มจากกรณีแบบนี้ต้องจ่ายเงินหรือไม่ หรือให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคุยกับเจ้าหน้าที่ของ สปสช. ก็ได้ สำหรับผู้บริโภคที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กำหนด สามารถร้องเรียนได้ที่ 1330 หรือสภาองค์กรของผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคที่อยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถร้องเรียนได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดของสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือร้องเรียนได้ที่องค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคทั้ง 279 องค์กร
“ถ้าโรงพยาบาลยืนยันว่าจะเก็บค่าบริการ เราก็ต้องยืนยันใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคที่จะเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากการถูกเรียกเก็บเงิน ทั้งที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะมีขั้นตอนในการเจรจา ช่วยเหลือ และทำหนังสือถึงหน่วยบริการให้คือเงินแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ กฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ยังให้สิทธิ์สภาองค์กรของผู้บริโภคในการห้องคดีแทนผู้บริโภคด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคที่เจอปัญหาเหล่านี้ก็สามารถร้องเรียนที่ สปสช. หรือสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เลย” สารี ระบุ