จากกรณีที่มีผู้บริโภคซื้อโดนัทจากห้างดังผ่านแอปพลิเคชัน แต่ปรากฎว่าได้รับโดนัทที่มีการปิดฉลากใหม่ทับฉลากเดิม เปลี่ยนแปลงวัน/เดือน/ปี ที่ทำให้เข้าใจว่าอาหารมีอายุยาวขึ้น และเพิ่มราคาจำหน่าย และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาให้ข่าวในทำนองว่า การจำหน่ายอาหารที่หมดอายุยังไม่ถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีดังกล่าวจึงอาจทำได้เพียงการเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ หากพบว่าเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน จึงจะดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐานนั้น (อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3637056)
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขาอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัยนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งอาหาร ดังนั้น อย.จะต้องดำเนินการตรวจสอบและนำหลักฐานดำเนินการกับผู้ประกอบการที่จงใจจัดทำฉลากไม่ตรงกับความเป็นจริง การอ้างว่าต้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนจึงจะดำเนินการเอาผิดได้นั้นน่าจะเป็นการละเลยการทำหน้าที่และอาจเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอีกด้วย
“หาก อย. ยังมีแนวความคิดว่าการจำหน่ายอาหารที่หมดอายุยังไม่ถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร และดำเนินการตามที่ให้ข่าว ต่อไปจะเกิดการหลีกเลี่ยงและละเลยการแสดงฉลากให้ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยอย่างแท้จริง อย. ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง” มลฤดีกล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้บริโภคซื้อโดนัท แต่พบว่าได้รับโดนัทที่มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยฉลากเก่าระบุว่า โดนัทน้ำตาล 1 ชิ้น วันที่บรรจุ 19 ตุลาคม 2565 หมดอายุ20 ตุลาคม 2565 ราคา 8 บาท ส่วนฉลากใหม่ที่ติดทับระบุว่า โดนัทน้ำตาล 1 ชิ้น วันที่บรรจุ 21 ตุลาคม 2565 หมดอายุ 22 ตุลาคม 2565 ราคา 17 บาท นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อขยายอายุอาหารให้ยาวขึ้นจากที่เคยระบุไว้ในฉลากที่ติดไว้ในครั้งแรก ซึ่งอาจเข้าข่ายการแสดงฉลากเพื่อลวง เปลี่ยนแปลงวันหมดอายุ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 25(2) และ 27(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท และอาจเข้าข่ายการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ถือเป็นความผิดตามมาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสและร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยแจ้งเบาะแสได้ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) @tccthailand อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล : [email protected] หรือโทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1