สภาผู้บริโภค เสนอปฏิรูประบบรถโดยสารยกเลิกรถสองชั้น เพิ่มวงเงินประกันภับภาคบังคับเป็น 30 ล้านบาท และปรับปรุงการตรวจสภาพรถ เพื่อให้เกิดระบบรถโดยสารที่ปลอดภัย
จากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ขาเข้า ตรงข้ามซอยพหลโยธิน 72 หน้าเซียร์รังสิต หลังจากออกจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเดินทางไปที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ส่วนกลาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 25 ราย โดยแบ่งเป็นนักเรียน 20 ราย และครู 3 ราย นั้น
วันที่ 2 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภคจัดงานแถลงข่าว “จัดการผู้ที่ทำให้รถไม่ปลอดภัย ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเด็กและครู” เพื่อสะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 4 ประเด็น ประเด็นแรกคือการยกเลิกการใช้รถสองชั้นในการรับจ้างแบบไม่ประจำทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศได้มีข้อเสนอเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่ 2 สภาผู้บริโภคเสนอให้ขยายวงเงินประกันภัยภาคบังคับของรถโดยสารแบบไม่ประจําทางโดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการทำประกันภัยรถภาคบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนด ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน แต่มีข้อกำหนดวงเงินว่า ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยเฉลี่ยจ่ายจากวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งไม่ครอบคลุมความเสียหายเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ประเด็นที่ 3 คือ การรื้อระบบตรวจสภาพรถยนต์ทั้งหมด โดยเฉพาะรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับบริการขนส่งสาธารณะซึ่งถูกละเลยมานาน ปัจจุบันรถสาธารณะตรวจสภาพปีละสองครั้ง แต่ในบางประเทศตรวจทุกไตรมาส ซึ่งจริง ๆ ควรจะดูตามจํานวนการใช้งาน ไม่ใช่ดูตามจำนวนครั้งต่อปีหรือกำหนดเป็นระยะเวลาตายตัวเพียงอย่างเดียว
ส่วนประเด็นที่ 4 การพัฒนากฎหมาย กระบวนการทำงาน รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต้องนำไปสู่การพัฒนากฎ ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ และวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสารทั้งการตรวจสภาพรถ รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหาย ซึ่งถือเป็นการป้องปรามให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากขึ้น
“นอกจากนี้ยังคาดหวังไปถึงกระบวนการยุติธรรม โดยอยากให้การสูญเสียที่เกิดขึ้นถูกนำไปพิจารณา และมีคําพิพากษาในเชิงที่จะป้องปรามการดําเนินการแบบนี้ในประเทศไทยเพราะเวลานานไปสิ่งที่เราพยายามจะสรุปบทเรียนก็จะไม่ถูกใช้งานในฝั่งของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย สุดท้ายก็มีเหตุผลข้อโต้แย้งต่าง ๆ และในท้ายที่สุดเราก็จะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้” สารี กล่าว
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะสนับสนุนครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ โดยร่วมหน่วยงานประจําจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคปี 2522 ที่รับรองเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการ และขอยืนยันว่าเราจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เสนอว่า ควรมีการ “ปฏิรูป หรือ ปฏิวัติ” เรื่องระบบการเดินทางใน 4 ประเด็น 1) อยากให้มุ่งแก้ไขเรื่องกระบวนการจัดรถเดินทาง มากกว่าการเน้นไปที่เรื่องผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กหรือเรื่องการทัศนศึกษา ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะไม่มีใครที่ควรได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ลักษณะนี้ 2) เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น หากเป็นประเทศที่เจริญแล้วคือการทําสืบสวน สอบสวน และรวบรวมข้อเท็จจริงจากจุดเกิดเหตุให้ได้มากที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และตรงไปตรงมา เพื่อนําไปสู่การตั้งวงคุย 3) การพัฒนากฎหมายในเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร ควบคู่ไปกับการบังคับใช้ โดยต้องบังคับใช้อย่างจริงจังกับรถโดยสารทั้งหมด ไม่มีการยกเว้นรถเก่า และ 4) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม สะดวก และปลอดภัย เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“ปัจจุบันสภาผู้บริโภค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้นักเรียนหันมาใช้รถสาธารณะ เพื่อลดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ดังนั้น อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพูดคุยเพื่อสร้าง ทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่จักรยานยนต์ และต้องปลอดภัยยิ่งกว่า ทั้งนี้ ขออนุญาตเชียร์ให้ไม่ต้องทบทวนแต่ให้ปฏิวัติใน 4 ประเด็น” นพ.อนุชา ระบุ
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องมาตรการพาเด็กไปทัศนศึกษา อายุ ช่วงวัย ลักษณะของกิจกรรม และการได้มาของยานพาหนะที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการนำพาเด็กไปทัศนศึกษา ตลอดจนปัญหาขั้นตอนในการกำกับระบบความปลอดภัยของการเดินทางสำหรับนักเรียน และปัญหาเชิงโครงสร้างในการปรับปรุงมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ในการทัศนศึกษาของโรงเรียนหรือสถานศึกษา
ทั้งนี้ คงศักดิ์มีข้อเสนอต่อเรื่องดังกล่าว 3 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ทบทวนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2562 โดยเพิ่มเงื่อนไขการทัศนศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน และการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ และแผนการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของนักเรียนทุกคน กรณีต้องเดินทางระยะทางไกลหรือข้ามจังหวัด ควรมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รองรับโดยหน่วยงานด้านการศึกษาและกระทรวงคมนาคมรับรอง
2) กำหนดให้มีมาตรการซักซ้อมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการดูแลเด็กภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของบุคลากรโรงเรียนและนักเรียนในทุกมิติ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น รถตกน้ำ ไฟไหม้ เป็นต้น และ 3) เสนอให้มีการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถไม่ประจำทาง ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดทําขึ้นเพื่อรองรับการเช่ารถโดยสารไม่ประจําทาง ประกอบเพิ่มเติมจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ กรณีมีเหตุจำเป็นต้องนำนักเรียนเดินทางทำภารกิจ เพื่อเป็นการคัดกรองรถที่ได้มาตรฐานและผู้ประกอบการที่มีคุณภาพเข้ามารับส่งนักเรียนในการเดินทางให้มีความปลอดภัย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนทุกโรงเรียนสามารถนําไปปรับใช้ได้ เพื่อเป็นเครื่องมือขั้นตอนแรกในการคัดกรองผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ
ทางด้าน เชษฐา มั่นคง คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น สิ่งหนึ่งที่พบคือมีการทําโพลว่าโรงเรียนควรจะจัดทัศนศึกษาหรือไม่ ซึ่งเป็นปลายเหตุ แต่ไม่ได้มองในเชิงการป้องกันการดูแลในเรื่องของความปลอดภัยของของเด็ก ทั้งนี้ ต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุคือการควบคุมเรื่องของคุณภาพ เช่น ก่อนมีการจัดทัศนศึกษาบริษัทฯ ต้องมีการตรวจตามเกณฑ์มาตรฐาน และส่งใบยืนยันการตรวจคุณภาพให้โรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่า รถโดยสารที่โรงเรียนจะใช้บริการมีคุณภาพดี ไม่ใช่ว่า ตามระเบียบของราชการ ที่จะต้องมีการพูดเทียบ 3 บริษัท และเลือกบริษัทที่ถูกที่สุดซึ่งอาจจะมาตรฐานต่ำที่สุด
“ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กทั้งในและนอกสถานศึกษาเป็นสิ่งสําคัญ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้น้อย พิพิธภัณฑ์ที่อยากจะให้เด็กไปเรียนรู้ก็กลายไปจุกอยู่ในตัวเมือง อยู่ไกล และเข้าถึงได้ยาก ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องผู้ปกครองบางรายที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถพาบุตรหลานไปเรียนรู้นอกสถานที่ได้ ดังนั้น ประเด็นที่มีการถกเถียงว่าการทัศนศึกษาก็เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ เชษฐา เสนอว่า ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่มเรื่องความปลอดภัยเข้าไปในการเรียนการสอน โดยยกตัวอย่างวิชาลูกเสือเนตรนารีอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเท่าทันกับสังคมปัจจุบัน ให้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติต่างๆ เช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ขณะเดียวกันครูผู้ดูแลเด็กก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย โดยในกรณีที่พาออกไปนอกห้องเรียนทั้งกรณีที่ใช้รถโดยสาร รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่ต้องออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย
“การทัศนศึกษาเป็นยอดภูเขาน้ําแข็งแต่ใต้ภูเขาน้ําแข็งมีประเด็นที่เป็นต้นตออีกเยอะมากที่เราไม่ได้มีการพูดถึงหรือมีการพูดถึงแค่บางส่วน ประเด็นเรื่องของรายละเอียด รูปแบบ และข้อกำหนดในการจัดทัศนศึกษา ประเด็นเรื่องของการดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งโรงเรียนต้องให้ความสำคัญ และกระทรวงศึกษาธิการต้องมีหน้าที่ไปคิด ออกแบบ มาตรการที่จะสร้างให้มีมาตรการความปลอดภัยทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน รวมถึงการเดินทางไปทัศนศึกษาด้วย” เชษฐา กล่าวทิ้งท้าย