หนุน กกพ. ลดค่า Ft 0.17 บาท ดัน โซลาร์ภาคประชาชน

Getting your Trinity Audio player ready...
หนุน กกพ. ลดค่า Ft 0.17 บาท ดัน โซลาร์ภาคประชาชน

สภาผู้บริโภค ชี้ กกพ. ควรแสดงจุดยืน โดยการ ลดค่า Ft สำหรับงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม และผลัดดันโซลาร์ภาคประชาชน

จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศตรึงค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) สำหรับงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบกรอบราคาค่าไฟเป้าหมายที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ยังไม่มีมติอนุมัติให้ปรับลดค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย นั้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ : กกพ. ไม่ลดค่า Ft เข้าหน้าร้อนค่าไฟยังคงที่ 4.15 บาท , เปิดมติ ลดค่าไฟ 3.99 บาท ครม.ยังไม่อนุมัติแค่รับทราบราคาเป้าหมาย)

หนุน กกพ. ลดค่า Ft 0.17 บาท ดัน โซลาร์ภาคประชาชน : รสนา โตสิตระกูล

ล่าสุด รสนา โตสิตระกูล กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กกพ. ควรดำเนินการตามขอบเขตอำนาจที่ทำได้เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และแสดงจุดยืนตามข้อเสนอที่เคยเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน* ผ่านการ ลดค่า Ft  สำหรับงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟ้ฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย โดยแก้ไขประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electric Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564  และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ยกเลิกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ

“แม้ว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กกพ. ได้มีข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนในกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่กกพ. ควรแสดงจุดยืนให้มีการดำเนินการตามความเห็นที่ได้เสนอไป ไม่ใช่ประกาศตรึงราคาค่า Ft ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยตามที่เป็นข่าว” รสนา ระบุ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ทางเลือกทั้ง 3 ทางเลือกของ กกพ. ยังคงเป็นไปในแนวทางเดิม คือ หนึ่ง ขึ้นค่า Ft เต็มจำนวนเพื่อจ่ายคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ทั้งหมด สอง ขึ้นค่า Ft บางส่วนเพื่อจ่ายคืนหนี้ กฟผ. บางส่วน และสามคือ ตรึงค่า Ft โดยจ่ายคืนหนี้ กฟผ. เพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้ทบทวนสูตรการคำนวณค่า Ft ว่า มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าส่วนใดบ้างที่สามารถบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ และควรเปลี่ยนแปลงนโยบายใดบ้างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ รสนา กล่าวย้ำว่า สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับทั้งสามทางเลือกที่ขอรับฟังความคิดเห็น กกพ. ควรลดค่า Ft ลง จำนวน 17 สตางค์ ตามที่ กกพ. เคยแถลงข่าวไว้ ผ่านการยกเลิกสัญญา Adder ที่มีการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติทุก 5 ปี และมีข้อเสนอต่อ กกพ. 3 ข้อ 1) ขอให้ กกพ. ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งควรเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อราคาค่าพลังงานไฟฟ้า ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม

2) ขอให้ กกพ. เสนอความเห็นของสภาผู้บริโภค ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน โดยย้ำถึงเหตุผลและความจำเป็นของการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว *อ่านรายละเอียดข้อเสนอได้ตามไฟล์ด้านล่าง

3) ปรับปรุงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยกำหนดราคาแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) สำหรับกลุ่มผู้ขอขนานไฟฟ้า (ฝากไฟฟ้าส่วนเกินไว้ และดึงกลับมาใช้งานในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา โดยไม่มีการขายไฟฟ้าคืน) และปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าจากเดิม 2.20 บาทต่อหน่วยเป็นการรับซื้อไฟฟ้าในราคาเดียวกับ กฟผ.ขายให้กับ กฟน.และ กฟภ. สำหรับผู้ประสงค์ขายไฟฟ้าคืนตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเดิม


*เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กกพ. ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้ กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนในกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยปรับปรุงค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense : PE) ยกเลิกค่า Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และมีการต่ออายุสัญญา Adder แบบอัตโนมัติทุก 5 ปี เป็นเหตุให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นปีละประมาณ 33,000 ล้านบาท

หากมีการดำเนินการดังกล่าวแล้วจะทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (อ่านรายละเอียดได้ที่ : กกพ.ยันไม่ได้ยกเลิกสัญญาฯ เสนอ ‘พีระพันธ์’ ชง กทช. ทบทวนนโยบาย – กำหนดราคา สะท้อนต้นทุนจริง https://today.line.me/th/v2/article/rmN8WY8)