สภาผู้บริโภคขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดตั้ง “หน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานี” หวังสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความเข้มแข็งการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่
วันนี้ (3 มีนาคม 2567) นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้จัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดเพิ่มขึ้น 1 จังหวัด โดยยกระดับการทำงานของ ‘สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี’ ขึ้นเป็นหน่วยประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง “การรับรองสมาชิกเพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี” ถือเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคแห่งที่ 4 ในภาคใต้ และเป็นแห่งแรกที่อยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวในหลายหลายเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ แต่แน่นอนว่าพื้นที่ปัตตานีก็เจอปัญหาผู้บริโภคไม่ได้แตกต่างกับจังหวัดอื่น ๆ เลย ดังนั้นการมีสมาชิกที่ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานประจําจังหวัดปัตตานี จะทําให้ผู้บริโภคในจังหวัดปัตตานีรู้สึกอุ่นใจเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางที่จะทําให้เค้ารู้ว่าเมื่อเค้าเกิดปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ก็จะมีองค์กรภาคประชาชน คอยให้คําแนะนําคอยให้การช่วยเหลือ” นางสุภาพรระบุ
รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหน่วยงานประจําจังหวัด คือทําข้อเสนอด้านนโยบายในระดับจังหวัด ซึ่งจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเด็นที่มีผลกระทบกับผู้บริโภค เช่น ในกรณีที่พบว่าในจังหวัดปัตตานีมีปัญหาที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดย ตรงสมาคมผู้บริโภคของจังหวัดปัตตานีในฐานะหน่วยงานประจําจังหวัด สามารถศึกษาข้อมูลสถานการณ์ปัญหา และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนมาร่วมหารือ เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหา และทําเป็นข้อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้
นอกเหนือจากการรับเรื่องร้องเรียน คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และการทํางานนโยบายแล้ว การสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของหน่วยงานประจำจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีจำนวน 5 องค์กร และอยู่ระหว่างพิจารณารับรองเพิ่มเติมอีก 2 องค์กร หน่วยงานประจําจังหวัดจึงต้องช่วยสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเหล่านี้เข้มแข็ง และกลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภค สามารถสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้คนปัตตานีตื่นตัว รู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสามารถแก้ไขปัญหาได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกจำนวน 314 องค์กร ในพื้นที่ 43 จังหวัด โดยมีหน่วยงานประจำจังหวัด 17 หน่วย และมี 4 หน่วยงานเขตพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ 2567 ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสมาขิกให้ครอบคลุมพื้นที่ 60 จังหวัดสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานเขตพื้นที่และองค์กรสมาชิกภาคใต้ มีแผนงานที่จะขยายฐานสมาชิกองค์กรผู้บริโภคไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดยะลาและนราธิวาส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นางสุภาพร ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมายและมีรูปแบบที่หลากหลาย การเกิดขึ้นของหน่วยงานประจําจังหวัดเป็นอีกหนึ่งช่องทางสําคัญที่จะให้ข้อมูล ให้คําแนะนํา รวมถึงการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค
“ขอเชิญชวนผู้บริโภคที่อยู่ในจังหวัดปัตตานีมาร่วมมือกับ ‘สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี’ ช่วยกันแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ปัตตานี ผลักดันปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากให้เป็นประเด็นทางนโยบายเพราะปัญหาเหล่านี้ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนในพื้นที่ และพลังของผู้บริโภคจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ยิ่งใหญ่ เราเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ปัตตานี” รองเลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ภาคต่าง ๆ และได้รับความเดือดร้อน สามารถปรึกษา หรือร้องเรียนปัญหาผู้บริโภคได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค (ดูรายชื่อหน่วยงาน และช่องทางติดต่อได้ที่ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/) หรือร้องเรียนมาที่สำนักงานสภาผูบ้ริโภค สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. หรือช่องทางอื่น ๆ ดังนี้ ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand