สภาผู้บริโภค ห่วงพีระพันธุ์ ลดภาษี ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันอาจไม่ลดถ้าไม่คุมค่าการตลาดน้ำมัน
ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยภายหลังประชุม ครม. ถึงประเด็นการปรับลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลงให้ได้ 2.50 บาทต่อลิตร โดยระบุว่า การปรับลดราคาน้ำมันจะต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและกลุ่มสรรพสามิต แต่หลังจากที่ได้ศึกษารายละเอียดกระทรวงการคลังแจ้งว่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน หากจะปรับลดก็ต้องลดทั้งหมด แต่ก.คลัง ไม่สามารถที่จะลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันเบนซินทุกประเภทได้ถึง 2.50 บาทต่อลิตร และเสนอให้ลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตทุกชนิดลง 1 บาท ต่อลิตร และเพื่อให้ลดราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงให้ได้ 2.50 บาทต่อลิตร จะต้องบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเพิ่ม อีก 1.50 บาท ต่อลิตร ให้เป็น 2.50 บาท ต่อลิตร ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยจะให้มีผล ตั้งแต่ 7 พ.ย. ระยะเวลา 3 เดือนนั้น
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2566) รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภคให้ความเห็นว่า แนวทางการลดราคาน้ำมันเบนซินด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น เป็นแนวทางที่สภาผู้บริโภคได้ยื่นเสนอต่อนายพีระพันธุ์ไว้แล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเสนอให้ลดฐานภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 3.67 บาทต่อลิตร ให้เหลือไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร และลดฐานภาษีสรรพสามิตกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 จาก 5.85 บาทต่อลิตร ให้เหลือไม่เกิน 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อให้ส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลต่างกันไม่เกิน 5 บาทต่อลิตร
การที่กระทรวงการคลังเสนอต่อนายพีระพันธุ์ในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินทั้งกลุ่ม จึงเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับที่สภาผู้บริโภคเสนอ แต่การลดภาษีน้ำมันลงมาเพียง 1 บาท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อรายได้การคลังของรัฐบาล แต่ทำให้ต้องหันมาใช้การบริหารเงินกองทุนน้ำมันเข้ามาประกอบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยกระทรวงพลังงานยังไม่เดินหน้าจัดการปัญหาโครงสร้างราน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมไปด้วยกัน คือยังปล่อยให้ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์บวกค่าขนส่งทิพย์จากประเทศสิงคโปร์ ปล่อยให้ราคาเอทานอลที่ใช้ผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์มีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปมากกว่า 6 บาทต่อลิตร และที่สำคัญที่สุดคือยังไม่สามารถควบคุมค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินได้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มน้ำมันเบนซินมีค่าการตลาดสูงร่วม 4 บาทต่อลิตร
ดังนั้น เมื่อมีการปรับลดภาษีน้ำมันลงมา 1 บาทต่อลิตร และมีการลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมันกับแก๊สโซฮอล์ 91 จาก 2.80 บาทต่อลิตรเหลือเก็บอยู่ที่ 1.30 บาทต่อลิตร หากไม่มีการคุมค่าการตลาดน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการคุมเพดานราคาขายปลีกหน้าปั๊มเหมือนราคาน้ำมันดีเซล เงินส่วนต่างที่รัฐบาลลดได้จากภาษีและกองทุนน้ำมันจะไหลไปลงที่ค่าการตลาดเป็นรายได้ของผู้ค้าน้ำมันโดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40 และจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไม่ลดลงเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ รมว.พลังงานและประชาชนผู้ใช้น้ำมันคาดหวังก็เป็นได้
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ รมว.พลังงาน เร่งดำเนินการปรับแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันที่ต้นทางโดยเร็ว ดังนี้
1. ให้ยกเลิกการใช้ E85 เพราะราคาเอทานอลของประเทศไทยสูงกว่าราคาเอทานอลตลาดต่างประเทศและสูงกว่าราคาเบนซินสำเร็จรูปเกินกว่า 6 บาทต่อลิตร จึงทำให้ E85 จากโรงกลั่นมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินทุกชนิด
2. ให้เร่งดำเนินการควบคุมค่าการตลาดน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือให้ควบคุมเพดานราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้ง 95 และ 91 เพื่อป้องกันไม่ให้เงินภาษีและกองทุนน้ำมันที่รัฐลดการจัดเก็บไหลไปอยู่ที่ค่าการตลาดน้ำมันจนสูงเกินควร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันและผู้ค้าน้ำมันรายย่อยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้น้ำมันรายใหญ่
3. ให้ยกเลิกสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอิงราคาสิงคโปร์ได้แต่ต้องไม่บวกค่าขนส่งทิพย์
4. ให้คุมเพดานราคาเอทานอลที่ใช้ผสมน้ำมันเบนซินต้องไม่สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินสำเร็จรูป เพื่อไม่ให้ราคาแก๊สโซฮอล์ที่หน้าโรงกลั่นสูงเกินควร
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค
ข่าวโดย : ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค