จากรถบัสไฟไหม้ ถึงเวลาทบทวน แนวทางไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย

จากรถบัสไฟไหม้ ถึงเวลาทบทวน แนวทางไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย

อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค จี้ทบทวนเชิงระบบ ตั้งแต่แนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย ซักซ้อม วางแผน  ลงรายละเอียด หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเพลิงไหม้  ย้ำชัด พาเด็กเล็กไปทัศนศึกษา ยิ่งต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้      

จากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยา จ.อุทัยธานี เหตุเกิดที่ถนนวิภาวดี หน้าอนุสรณ์สถาน เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ในฐานะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนเชิงระบบ ตั้งแต่แนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัยจะต้องวางแผนอย่างไรบ้าง

“ปัจจุบัน การไปทัศนศึกษาของเด็กมีอยู่ 2 รูปแบบ 1. ไปเช้า – เย็นกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทัศนศึกษาในช่วงปิดเทอมหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม กับ 2. ทัศนศึกษาแบบพักค้างคืน จะอยู่ในช่วงเทอมสอง 2  ซึ่งจะมีการเดินทางช่วงกลางคืน มีการใช้รถบัสสองชั้น การเกิดอุบัติเหตุจะเกิดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม” 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุจากการไปทัศนศึกษา และนำมาซึ่งการเสียชีวิตนั้น สิ่งที่ต้องทบทวน อีกเรื่องคือ การเตรียมความพร้อมของสภาพรถ  กรมการขนส่งทางบก  ต้องเตรียมความพร้อม มีการเข้มงวดตั้งแต่การตรวจสภาพของตัวรถ ความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเพลิงไหม้เกิดขึ้น ส่วนคณะผู้จัดกิจกรรมไปทัศนศึกษา ต้องวางแผนโดยการลงรายละเอียด ทั้งการเตรียมครูประจำรถกี่คนต่อจำนวนเด็ก ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้มากเป็นพิเศษ   เช่นอาจจะต้องเป็นครูหนึ่งคนต่อ 10 คน เป็นต้น หรือหากเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ หรือเกิดเพลิงไหม้คุณครูก็ต้องรู้จักการใช้ถังดับเพลิง และถ้าจำเป็นต้องอพยพ คุณครูจะต้องวางแผนอพยพออกทางไหน ประตูอยู่ตรงจุดไหน เป็นต้น 

“รถคันที่เกิดเหตุ เป็นรถบัสชั้นครึ่งที่เป็นรถสูง ผมมองว่า การการอพยพเด็กทำได้อย่างจำกัด หรือหากมีประตูทางออกฉุกเฉิน เด็กเล็กไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินได้ ครูสามารถเปลี่ยนแผนพาเด็กออกประตูกลางได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการซักซ้อม มีการวางแผนก่อนเกิดเหตุการณ์จริงมาก่อน”

เมื่อถามถึงการผลักดันการใช้สัญญามาตรฐานเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในสถานศึกษา กรณีที่มีความจำเป็นต้องพาเด็กเดินทางนอกสถานที่นั้น นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า เรื่องการใช้สัญญาฯ มองว่า จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความพร้อม โดยเฉพาะมาตรฐานการใช้รถที่ปลอดภัย ซึ่งสภาผู้บริโภคมีอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ ต่อกรณีนี้ต้องถามหาความรับผิดชอบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก  โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมีการแต่งตั้งไปเมื่อเร็ว ๆ นี้